ช่วงนี้กระแสการควบคุมน้ำหนักด้วยวิธี IF กำลังมาแรง แต่วิธีนี้ได้ผลจริงไหม ปลอดภัยหรือเปล่า ใครอยากลองทำแต่ก็กล้า ๆ กลัว ๆ กลัวจะลดไม่จริง กลัวจะมีผลเสียต่อสุขภาพ บทความนี้ชวนมาทำความรู้จักกับการควบคุมอาหารวิธีนี้กัน
IF ย่อมากจาก Intermittent Fasting หมายถึงการจำกัดช่วงเวลาในการรับประทานอาหาร แบ่งเป็นช่วงเวลาที่งดรับประทานอาหารหรือที่เรียกทับศัพท์สั้น ๆ ว่าช่วงฟาสต์ (fast) กับช่วงที่ทานอาหารได้ (feast) จะว่าไปแล้วในแต่ละวันช่วงที่เรานอนหลับก็คือช่วงฟาสต์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้จะยาวหรือสั้นขึ้นกับว่ารับประทานอาหารเย็นเสร็จกี่โมง และรับประทานอาหารเช้าหรือไม่
สำหรับการทำ IF เพื่อลดน้ำหนัก ช่วงฟาสต์จะต้องยาวเป็นพิเศษ เช่น 16 ชั่วโมงต่อวัน และมีช่วงรับประทานอาหาร 8 ชั่วโมงของแต่ละวัน เรียกว่า IF16:8 การอดแบบนี้ทำได้ไม่ยาก สามารถปรับเวลาได้เองตามความสะดวกให้เข้ากับชีวิตประจำวัน อาจจะเริ่มกินอาหารมื้อแรกของวันเวลาเที่ยงตรงและกินอาหารมื้อสุดท้ายให้เสร็จภายในสองทุ่ม หรือกินแปดโมงเช้าและจบมื้อสุดท้ายภายในสี่โมงเย็น เป็นต้น นอกจาก IF 16:8 แล้ว ยังมี IF ที่มีช่วงฟาสต์นานขึ้นอย่าง 18:6 ส่วนถ้าเป็น 23:1 ก็คือการรับประทานอาหารเพียงแค่วันละ 1 มื้อ เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับการฟาสต์แล้วจะเขยิบช่วงเวลาฟาสต์ให้ยาวนานขึ้น กลายเป็นรับประทานอาหารแบบ “วันเว้นวัน” หรือเลือกฟาสต์เต็มวัน 2 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่อีก 5 วันรับประทานปกติ เรียกว่า IF 5:2 ก็มีคนทำเช่นกัน
ทั้งนี้นิยามของคำว่า “อด” ของแต่ละกูรูนั้นไม่เหมือนกันทีเดียว บ้างก็แนะนำว่าควรงดเข้มคือในช่วงเวลาฟาสต์ไม่รับประทานอะไรเลยนอกจากน้ำเปล่า กาแฟดำ หรือชาที่ไม่มีการแต่งรสแต่งกลิ่น แต่บ้างก็อนุญาตให้รับประทานซุปต้มกระดูกได้ ขณะที่บางสูตรแนะนำว่ากรณีที่อดนานเป็นวันแบบ IF 5:2 ไม่ได้ให้อดอาหารโดยสิ้นเชิง แต่ในวันที่อดสามารถรับประทานอาหารได้ในแคลอรี่จำกัด 500-600 แคลอรี่ต่อวัน
ข้อดีของการลดน้ำหนักแบบ IF
ที่เห็นชัดที่สุดคือ ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องซื้ออุปกรณ์หรืออาหารพิเศษใด ๆ และมีแหล่งข้อมูลให้ศึกษาเองได้มากมาย ไม่ต้องไปเสียค่าคอร์สให้ใคร ในแง่ของการลดน้ำหนักซึ่งเป็นผลระยะสั้นของการทำ IF มีการศึกษาว่าแม้การทำ IF จะไม่ใช่การควบคุมแคลอรี่ในอาหารที่รับประทานโดยตรง แต่เมื่อช่วงเวลาที่รับประทานได้ต่อวันสั้นลงจึงทำให้แคลอรี่ที่ได้รับลดลงประมาณ 20% โดยปริยาย น้ำหนักจึงลดลงได้จริงประมาณ 3-5 กิโลกรัมในระยะเวลา 10 สัปดาห์ นอกจากน้ำหนักจะลดแล้ว IF ยังทำให้รอบเอวและไขมันที่สะสมในร่างกายลดลงได้ด้วย เพราะเมื่องดรับประทานอาหารไปช่วงหนึ่งจนร่างกายเผาผลาญน้ำตาลหมดแล้ว ร่างกายก็จะไปดึงไขมันมาใช้แทน ยิ่งทำควบคู่ไปกับการเลือกรับประทานอาหารสุขภาพที่มีปริมาณแป้งต่ำ น้ำตาลต่ำ ไขมันไม่สูงมาก ร่างกายมีน้ำตาลและไขมันที่รับประทานไปให้ใช้น้อย ส่งผลให้ลดน้ำหนักและสัดส่วนได้ผลมากขึ้น
ดังนั้นการทำ IF ไม่ได้แปลว่าในช่วงที่รับประทานอาหารได้ คุณจะทานอะไรก็ได้ไม่ต้องแคร์ จะฟาดครัวซองต์ชิ้นเบิ้ม ต่อด้วยเค้กมื้อละก้อนก็ยังผอม นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและไม่ดีต่อสุขภาพ
ผลระยะยาวพบว่าการทำ IF
มีผลทำให้อนุมูลอิสระในร่างกายลดลง นาฬิกาชีวภาพทำงานได้ดียิ่งขึ้น การอักเสบของเซลล์ลดลง เพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลิน จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหารผิดปกติ หรือที่เรียกว่าภาวะเมตาโบลิกซินโดรม ซึ่งนำไปสู่การเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ และนำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ แต่การรับประทานอาหารแบบ IF ควรทำไปนานแค่ไหน ยังไม่มีใครตอบได้เพราะไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์ที่แน่นอน
สำหรับคุณผู้อ่านที่เป็นนักกีฬาหรือออกกำลังกายเป็นประจำ
ที่เป็นห่วงว่าการทำ IF จะทำให้ความเร็ว ความอึด หรือสมรรถภาพด้านกีฬาลดลง ปัจจุบันมีงานวิจัยที่พยายามศึกษาข้อดี-ข้อเสียของการทำ IF ต่อการเล่นกีฬาทั้งในอาสาสมัครชาวมุสลิมที่อดอาหารและน้ำในช่วงกลางวันในเดือนรอมาดอน และตั้งใจทำ IF ด้วยตนเอง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเพราะผลของแต่ละการศึกษาไม่ไปในทางเดียวกัน บ้างก็แสดงผลไปในทางบวก แต่บ้างก็ได้ผลในทางลบ และบ้างก็ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่รับประทานอาหารปกติและกลุ่มที่ฟาสต์ก่อนออกกำลังกาย แต่ที่ชัดเจนคือการทำ IF ไม่ได้ช่วยให้เล่นกีฬาได้ดีขึ้น ดังนั้นหากคุณเล่นกีฬาเพื่อออกกำลังกาย สามารถทำ IF ได้โดยไม่ได้ส่งผลเสียอะไร แต่หากคุณเป็นนักกีฬาที่กำลังจะลงสนามแข่ง การทำ IF ในช่วงฤดูที่มีการแข่งขันอาจไม่เหมาะกับคุณ
ข้อเสียของการลดน้ำหนักแบบ IF
อ่านข้อดีชวนร้องว้าวมาเยอะขนาดนี้สงสัยไหมคะว่าแล้ววิธีนี้มีข้อเสียไหม หากเป็น IF 16:8 หรือ 18:6 ซึ่งมีช่วงที่งดรับประทานอาหารเพียงแค่ 1 มื้อต่อวันจะไม่ได้มีผลร้ายต่อร่างกายสักเท่าไหร่ เพราะจะว่าไปแล้วการงดอาหารเช้า หรืองดอาหารเย็นสักมื้อนึงนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร คนไทยเราออกจะคุ้นเคยอยู่แล้วด้วยซ้ำ เพราะไม่แตกต่างจากการถือศีลแปดที่ไม่รับประทานอาหารเย็น หรือพระสงฆ์ที่ไม่ฉันหลังเพล แต่ถ้าเป็นการอดยาวแบบ 23:1 และทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานต้องระวังการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือหากต้องการจะฟาสต์แบบวันเว้นวันหรือฟาสต์เป็นช่วงเวลายาวมากกว่าหนึ่งวันควรศึกษาให้ละเอียดมากขึ้น เนื่องจากระหว่างที่ฟาสต์ร่างกายอาจจะขาดเกลือแร่ส่งผลต่อการทำงานของร่างกายได้ นอกจากนั้นหากคุณมีโรคประจำตัวและรับประทานยาเป็นประจำ การทำ IF ไปสักระยะจนน้ำหนักลดลงอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าความดันโลหิต ไขมันในเลือด และน้ำตาลในเลือด จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนและหลังจากทำ IF ไปสักระยะเพื่อตรวจร่างกายและปรับยาหากมีความจำเป็น
ใครอยากรอบเอวลด น้ำหนักลง ลองทำ IF ดูได้แต่อย่าหักโหม และต้องเลือกรับประทานอาหารให้ดีทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณให้ได้สารอาหารที่หลากหลายเพียงพอต่อร่างกายด้วยนะคะ