รถยนต์ยังต้องเข้ารับการตรวจสภาพประจำปี แล้วร่างกายของเราได้เข้ารับการตรวจสุขภาพบ้างหรือเปล่า? จริงอยู่ที่การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ใครจะมีลาภลอยอย่างนั้นได้ตลอดชีวิต เพราะเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายย่อมต้องเกิดตามเสื่อมไปตามวัยตามการใช้งานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อเฝ้าระวังโรคที่อาจจะเกิดขึ้นและสำรวจหาโรคที่เป็นโดยยังไม่แสดงอาการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย
ทางเดินอาหารของผู้ใหญ่วัดตั้งแต่ปากจนถึงทวารหนักมีความยาวถึง 30 ฟุต การทำงานของทางเดินอาหารเริ่มจากการตักอาหารใส่ปาก เคี้ยวให้อาหารมีขนาดเล็กลงพอที่จะกลืนผ่านหลอดอาหารลงสู่กระเพาะที่มีกรดคอยทำหน้าที่ย่อยอาหารให้ละเอียดยิ่งขึ้น ก่อนจะผ่านลงไปที่ลำไส้เล็กซึ่งเป็นบริเวณที่สารอาหารส่วนมากจะถูกดูดซึม แล้วเคลื่อนต่อไปที่ลำไส้ใหญ่เพื่อดูดซึมน้ำ เกลือแร่ วิตามิน หลังจากนั้นกากอาหารจะกลับออกสู่โลกภายนอกผ่านทวารหนัก ตลอดเส้นทางที่บรรยายมานี้ ทางเดินอาหารทำงานให้เราทุกวัน วันละหลายมื้อ โดยที่เราไม่เคยเห็นหน้าตาของอวัยวะภายในเหล่านี้เลย โชคดีที่เราเกิดในยุคที่วิวัฒนาการทางการแพทย์พัฒนาไปอย่างยิ่งยวด ปัจจุบันแพทย์สามารถส่งกล้องไฟเบอร์ออพติกขนาดเล็กพร้อมไฟฉายที่ติดอยู่ที่ปลาย สอดเข้าไปในทางปากหรือทางทวารหนักเพื่อส่งภาพออกมาแสดงที่จอได้ทันที ส่งผลให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ โดยที่ผู้ถูกส่องกล้องไม่ต้องถูกผ่าตัดและแทบไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย
กระบวนการส่องกล้องทางเดินอาหาร
ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 2 แบบ คือ การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper Gastrointestinal Endoscopy, Esophagogastroduodenoscopy) และการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนปลาย (Lower Gastrointestinal Endoscopy, Colonoscopy) แต่ละแบบเป็นการส่องดูอวัยวะในบริเวณที่แตกต่างกัน คือ
1.การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
เป็นการส่องตั้งแต่ช่องคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อวินิจฉัยโรคหรืออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาการปวดท้องเรื้อรังที่เกิดร่วมกับน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร ท้องอืด แน่นท้อง ท้องบวมโต โรคกรดไหลย้อนเรื้อรังที่รักษาไม่หาย อาเจียนหรืออุจจาระมีสีแดงหรือดำปน ท้องเสียเรื้อรัง กลืนลำบาก ผู้ป่วยโลหิตจางเพราะขาดธาตุเหล็กจากการเสียเลือดที่มีผลส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างปกติ เด็กที่มีอาการไม่สบายตัวงอแงโดยไม่มีสาเหตุอื่น ส่องกล้องดูความเสียหายในทางเดินอาหารจากการกลืนสารกัดกร่อน และส่องกล้องเพื่อเฝ้าระวังเนื้อร้าย
นอกจากเพื่อการวินิจฉัยแล้ว การส่องกล้องยังใช้เพื่อการรักษาไปพร้อมกันได้ด้วยการตัดส่วนที่ผิดปกติออกจากจุดที่พบได้ทันที มีประโยชน์ในการห้ามเลือดในทางเดินอาหาร ใส่อุปกรณ์หรือยาผ่านกล้องส่องตรวจ รักษาเส้นเลือดโป่งขอดที่หลอดอาหาร และอื่น ๆ
2.การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนปลาย
จะใช้การสอดกล้องเข้าทางทวารหนักเพื่อส่องดูลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กส่วนปลาย การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนปลายมีประโยชน์มากในค้นหาความผิดปกติของผนังลำไส้ ตัดชิ้นเนื้อ และเก็บตัวอย่างที่อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากสถิติพบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งทวารหนักมักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งประเภทนี้ด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนปลาย และหากไม่พบความเสี่ยงใดแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก ๆ 10 ปี แต่ถ้ามีความเสี่ยง เช่น มีประวัติทางเดินอาหารอักเสบ มีคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมะเร็งทวารหนักเมื่ออายุต่ำกว่า 60 ปี หรือประวัติครอบครัวอื่น ๆ แนะนำให้ตรวจคัดกรองก่อนอายุ 50 ปี และตรวจซ้ำถี่ขึ้นเป็นทุก 1- 5 ปีแล้วแต่แพทย์จะเห็นควร
ผู้ที่มีญาติสายตรงอันได้แก่ พ่อแม่หรือพี่น้องเป็นมะเร็งลำไส้ แนะนำให้เริ่มส่องกล้องเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป หรือพิจารณาจากอายุของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ว่าพบว่าเป็นมะเร็งเมื่ออายุเท่าไร และเริ่มตรวจคัดกรองเร็วกว่านั้น 10 ปี โดยเลือกเกณฑ์ด้วยหลักการที่ว่ายิ่งตรวจพบเร็วก็ยิ่งมีโอกาสรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น
ในผู้ที่อุจจาระมีเลือดปน มีการขับถ่ายที่ผิดปกติไปจากเดิม โลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก ผู้สูงอายุที่มีน้ำหนักลด ปวดท้องเรื้อรัง ลำไส้อักเสบติดเชื้อ หรือพบว่าผิดปกติใดจากการตรวจด้วยวิธีอื่น การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนปลายจะช่วยวินิจฉัยหาสาเหตุของความผิดปกติได้เช่นกัน ในทำนองเดียวกับการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น การส่องกล้องที่ส่วนปลายก็สามารถใช้เพื่อรักษาด้วยการใช้ตัดติ่งเนื้อ เก็บตัวอย่าง กำจัดสิ่งแปลกปลอม ขยายลำไส้บริเวณที่ตีบตันผิดปกติ และมีประโยชน์ในการสำรวจลำไส้ก่อนการผ่าตัดด้วย
ประโยชน์การส่องกล้องทางเดินอาหาร
การส่องกล้องทั้งสองทางแล้วจะพบว่าการส่องกล้องมีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมาก ทั้งในแง่การป้องกันโรคที่ยังไม่เกิดขึ้นและการรักษา โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเจ็บตัวเพราะไม่มีการผ่าตัด ไม่ทำให้เกิดแผลหลังเสร็จสิ้นกระบวนการ ใช้เวลาน้อยเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง สำหรับใครที่ยังกลัวและไม่กล้าตรวจบอกได้เลยว่าปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ในการส่องกล้องมีขนาดเล็กมากมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น ก่อนการสอดท่อไม่ว่าจะทางปากหรือทางทวารหนักมีวิธีช่วยลดความเจ็บหรือความกังวลของผู้เข้ารับบริการได้โดยการใช้ยาชาหรือให้ยานอนหลับที่ออกฤทธิ์สั้นเพื่อให้เคลิ้มหลับซึ่งจะทำให้การตรวจผ่านไปอย่างรวดเร็วโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องกลัวอะไรเลย ทั้งนี้ก่อนวันนัดแพทย์จะชี้แจงข้อปฏิบัติซึ่งต้องทำตามอย่างเคร่งครัดเพื่อให้การส่องกล้องได้ประโยชน์สูงสุด ผู้เข้ารับการตรวจต้องงดน้ำ งดอาหาร งดยาบางประเภทตามเวลาที่แพทย์กำหนด หากเป็นการตรวจทางทวารหนักจะต้องรับประทานยาถ่ายเพื่อทำความสะอาดลำไส้ใหญ่ก่อนวันตรวจ และเนื่องจากอาจมีการให้ยานอนหลับ จึงต้องมีญาติมาเป็นเพื่อนเพื่อช่วยดูและพากลับบ้าน เพื่อความปลอดภัยห้ามผู้เข้ารับการตรวจขับรถกลับบ้านเอง
ถ้ารถของคุณถังน้ำมันรั่ว ยางแบน หรือเบรกแตก คุณคงไม่กล้าขับออกจากบ้านแน่ ๆ แล้วกับร่างกายจะปล่อยให้มีอาการป่วยโดยไม่ตรวจรักษาได้อย่างไร หากคุณกำลังมีอาการใดที่เข้าข่ายความผิดปกติของทางเดินอาหารหรือมีอายุ 50 ปีขึ้นไป อย่าให้ความกลัวต้องถูกส่องกล้องสร้างความลังเลในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจตั้งแต่วันนี้ หากต้องรักษาจะได้ทันท่วงที หรือถ้าไม่มีความผิดปกติก็จะได้สบายใจไร้กังวล