เม็ดเลือดขาว หน้าที่ เม็ดเลือดขาวสูง เม็ดเลือดขาวต่ำ อาการ Tops Vita

ไขข้อข้องใจ…เม็ดเลือดขาวสูงหรือต่ำกว่าปกติมีผลอย่างไรต่อสุขภาพ

เม็ดเลือดขาว ทหารภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย

เลือดของคนเรานั้น ประกอบไปด้วย เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ในส่วนของเม็ดเลือดขาวนั้น เป็นส่วนสำคัญของภูมิคุ้มกันของร่างกาย (immune system) มีหน้าที่หลักในการกำจัดเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รา หรือปรสิต รวมถึงสิ่งแปลกปลอมต่างๆที่เข้ามาในร่างกาย ซึ่งมี 4 ตัวที่สำคัญ ได้แก่

  • ลิมโฟไซต์  (Lymphocyte) พบมากในระบบน้ำเหลือง 20-40% แบ่งออกเป็น
    • เซลล์บี (B-Cell) กำจัดเชื้อโรคต่างๆ พร้อมจดจำเชื้อโรค เมื่อเจอเชื้ออีกครั้งจะสร้างพิษ (แอนติบอดี้) ต่อต้านและเรียกให้เม็ดเลือดขาวตัวอื่นๆมาจัดการ
    • เซลล์ที (T-Cell) มีหน้าที่ทำลายเชื้อโรคร่วมกับ B-Cell
  • แมคโครฟาจ (Macrophage) ถูกเปลี่ยนมาจากโมโนไซต์  ปกติแล้ว โมโนไซต์เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ลอยอยู่ในกระแสเลือด และจะเปลี่ยนเป็นแมคโครฟาจทันที เมื่อเข้าสู่เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด สมอง ตับ และไต ทำหน้าที่จับกินเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
  • เอนเคเซลล์ (NK Cell) ทำลายเชื้อไวรัส เซลล์มะเร็งโดยไม่ต้องรอส่งสัญญาณ สามารถจัดการทันที
  • เดนไดตริกเซลล์ (Dendritic Cell) พบในเนื้อเยื่อที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ผิวหนัง (เรียกว่า เซลล์ลังเกอร์ฮันส์) และที่เยื่อบุจมูก บุปอด บุท้อง และบุลำไส้ มีหน้าที่จับแอนติเจนหรือสิ่งแปลกปลอม (Antigen-presenting cell) แล้วนำไปที่ผิวของเซลล์เอง เพื่อเรียกเซลล์ที (T-Cell) ของระบบภูมิคุ้มกัน มาจัดการ

เม็ดเลือดขาวของเรานั้นจะถูกสร้างจากเซลล์ต้นกำเนิดที่อยู่ภายในไขกระดูก แล้วสะสมอยู่ทีไขกระดูก ม้ามและต่อมน้ำเหลืองโดยปกติคนเราจะมีปริมาณเม็ดเลือดขาวทั้งหมดทุกชนิดรวมกัน(total white blood cell count)อยู่ที่ประมาณ 4,500– 10,000 ตัวต่อปริมาณเลือด 1 ลูกบาศก์มิลลิเมตร (4,500– 10,000/mm3) ปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำเกินไปหรือสูงเกินไปย่อมไม่ดีต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามอาจมีภาวะที่ส่งผลต่อจำนวนเม็ดเลือดขาวดังต่อไปนี้

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ

เม็ดเลือดขาวต่ำเกิดจากอะไร

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส มักทำให้เม็ดเลือดขาวต่ำ แต่การติดเชื้อแบคทีเรียมักทำให้เม็ดเลือดขาวสูงขึ้น  การได้รับยาและสารเคมีบางชนิด ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งอื่นๆที่มีการแพร่กระจายในไขกระดูก โรคไขกระดูกฝ่อ ภาวะขาดวิตามินบี12 หรือกรดโฟลิก เป็นต้น

เม็ดเลือดขาวต่ำมีอาการอย่างไร

อาการของผู้ที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำ เช่น คลำได้ก้อน ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโตในโรคมะเร็งเม็ดเลือด หรือมีอาการผื่นแพ้แสง ปวดข้อ ในโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง

การวินิจฉัยเม็ดเลือดขาวต่ำ

ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำไม่มาก มักไม่แสดงอาการที่สามารถสังเกตได้ จะต้องตรวจเลือดเท่านั้น ด้วยวิธีการตรวจนับเม็ดเลือดขาว (White Blood Cell Count: WBC Count) ทั้งนี้ เกณฑ์โดยคร่าวของคนปกติทั่วไปจะมีระดับเม็ดเลือดขาวดังนี้

  • แรกเกิด-1 เดือน 5,000-34,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 2-5 เดือน 5,000-15,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 6 เดือน-1 ปี 6,000-11,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 1-12 ปี 6,000-12,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 3-5 ปี 4,000-12,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุ 6-11 ปี 3,400-10,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
  • อายุมากกว่า 12 ปี 3,500-10,500 เซลล์ต่อไมโครลิตร

โดยหากผลการตรวจพบว่าผู้ป่วยมีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 3,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร หรือมีปริมาณเม็ดเลือดขาวนิวโตรฟิลต่ำกว่า 1,900 เซลล์ต่อไมโครลิตร แพทย์อาจระบุได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และหากต่ำว่า 1,500 เซลล์ต่อไมโครลิตร จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆรอบตัวได้มากกว่าคนทั่วไป แพทย์จะหาทางรักษาต่อไป เช่น ให้ยาเพิ่มระดับเม็ดเลือดขาว ยาฆ่าเชื้อหากพบการติดเชื้อ

การปฏิบัติตัวหากพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ

  • ทานอาหารที่สะอาด กินร้อน ช้อนกลาง
  • งดอาหารหมักดอง อาหารดิบ โยเกิร์ต น้ำผลไม้สดที่ไม่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อ
  • หากจะทานผักสด ควรล้างให้สะอาด ส่วนผลไม้สด แนะนำ ส้มโอ หรือกล้วย เพราะมีคุณค่าและย่อยง่าย
  • ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการเจอผู้คนหรือในที่ชุมชนแออัด
  • ออกกำลังกายตามความเหมาะสม นอนหลับให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง
  • งดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนจนกว่าจะดีขึ้น
  • หากมีไข้สูง หนาวสั่น ควรรีบพบแพทย์

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง

เม็ดเลือดขาวสูงเกิดจากอะไร

ภาวะเม็ดเลือดขาวสูง เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคที่เกี่ยวกับไขกระดูก โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว อาการแพ้อย่างรุนแรง โรคหอบหืด ภูมิแพ้ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยาควินิดีน (Quinidine) ยาเฮพาริน (Heparin) ยาเอพิเนฟริน (Epinephrine) และยาโคลซาปีน (Clozapine) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  การสูบบุหรี่ ความเครียด วัณโรค

เม็ดเลือดขาวสูงมีอาการอย่างไร

อาการของผู้ที่มีเม็ดเลือดขาวสูง เช่น ไข้สูง มีเลือดออกหรือรอยฟกช้ำง่าย รู้สึกอ่อนแรง เหนื่อย หรือไม่สบาย รู้สึกหน้ามืด มีอาการคล้ายเป็นลม น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ หรือมีความอยากอาหารลดลง

การวินิจฉัยเม็ดเลือดขาวสูง

แพทย์จะซักประวัติเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วย จากนั้นจะเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจนับเม็ดเลือดขาว (White Blood Cell Count: WBC Count) เกณฑ์โดยคร่าวของคนปกติทั่วไปเป็นไปตามข้อมูลข้างต้น

การปฏิบัติตัวหากพบว่ามีภาวะเม็ดเลือดขาวสูง

  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักผลไม้หลากสี  ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เพื่อช่วยต้านการอักเสบในร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้เกิดการอักเสบ เช่น อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์4ขา เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารทอด เครื่องดื่มน้ำตาลสูง
  • ออกกำลังกาย ตามความเหมาะสม เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วย
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยสบู่และน้ำ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
  • ทานอาหารที่สะอาด กินร้อน ช้อนกลาง

ทั้งนี้หากพบว่าระดับเม็ดเลือดขาวสูงมากกว่าค่าอ้างอิงในแต่ละช่วงอายุ (ด้านบนแพทย์จะหาสาเหตุและแนวทางในการรักษาต่อไป

ดังนั้น หากเม็ดเลือดขาวต่ำไป หรือสูงไปร่วมกับมีอาการดังกล่าว (กล่าวไว้ในหมวดอาการของแต่ละภาวะควรรีบมาพบแพทย์