วิธีการดูแล หรือใช้ชีวิตกับคนที่มีเชื้อ HIV
หลายบ้านที่มีผู้ติดเชื้อ HIV อยู่ในครอบครัว อาจจะมีความกังวลว่าควรดูแลตัวเองแบบไหน เพื่อไม่ให้สมาชิกในครอบครัวเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี ที่จริงแล้วหากอยู่ร่วมกัน อย่างถูกหลักการ ถูกหลักอนามัย ก็สามารถใช้ชีวิตด้วยกันได้ โดยที่ไม่มีความเสี่ยงเลยไปตลอด
ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไร
- หากต้องทานข้าวร่วมกัน ให้ใช้ช้อนกลาง
- ควรแยกซักเสื้อผ้า และควรสวมใส่ถุงมือทุกครั้ง เพื่อป้องกันเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ หรือแม้แต่สารคัดหลั่งที่อยู่บนเสื้อผ้าผู้ป่วย
- การใช้ห้องน้ำ ครีมอาบน้ำ ยาสีฟัน ยาสระผม สามารถ ใช้ร่วมกันได้ ยกเว้น แปรงสีฟัน มีดโกน
พฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงติดเชื้อ HIV
- สัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย
- ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ หรือมีดโกน
- ไม่ล้างมือ หลังจากการรับประทานอาหารร่วมกัน และหลังการเข้าห้องน้ำ
- การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน หากต้องการมีเพศสัมพันธ์กัน ต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง
สำหรับผู้ที่ดูแล ควรให้ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ทานยาสม่ำเสมอทุกวัน พยายามไม่เกิดความเครียด และมีกำลังใจในการรักษา นอกจากนั้นยังมีคำแนะนำเพิ่มเติม เช่น
- เมื่อบุคคลในบ้านหรือผู้ดูแลป่วยเป็นเป็นไข้ หัด หัดเยอรมัน สุกใส ควรแยกตัวออกจากผู้ติดเชื้อ ให้คนอื่นดูแลแทน
- บุคคลในบ้านหรือผู้ดูแลป่วย ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อต่างๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด คอตีบ ไอกรน
- หากมีความเสี่ยงสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ควรพบแพทย์ทันที ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี เพื่อรับยาต้านไวรัส (Post -Exposure Prophylaxis: PEP) ลดโอกาสติดเชื้อ โดยจะต้องรับประทานต่อเนื่องเป็นเวลา 28 วัน ผลการป้องกันของยาต้านไวรัสจะให้ประสิทธิภาพสูงสุดกรณีรับยาภายใน 24 ชม. หลังรับเชื้อ
ในช่วงโควิด-19 ระบาด ต้องปฏิบัติตัวเพิ่มเติมอย่างไร
โควิด-19 หรือ SARS-CoV-2 เมื่อติดแล้วจะแสดงอาการ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ไอ หายใจลำบาก เป็นสาเหตุของโรคปอดและโรคทางระบบทางเดินหายใจ หากปล่อยให้ติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ในปี พ.ศ.2564 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เก็บข้อมูลจาก 37 ประเทศ พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และพบในกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 65 ปี หรือมีโรคร่วมเช่น โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
โควิด-19 มีผลต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร
ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 สูงกว่าคนทั่วไปหรือไม่ และอาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไปหรือไม่ แต่โดยส่วนมากผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่เข้าสู่ระยะโรคเอดส์ จะมีระดับภูมิต้านทานต่ำ เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด
กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีแบบไหน ที่มีความเสี่ยงสูงต่อเชื้อโควิด-19
- ผู้ที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- มีโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหัวใจแต่กำเนิดร่วมด้วย
- มีโรคหลอดเลือดสมองร่วมด้วย
- มีโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ร่วมด้วย
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคปอดเรื้อรังอื่นๆร่วมด้วย
- โรคไตเรื้อรังร่วมด้วย
- ภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายหรือค่า BMI (body mass index) มากกว่าหรือเท่ากับ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)ร่วมด้วย
ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในยุค New Normal ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
- ฉีดวัคซีนโควิด-19 (ถ้าทำได้) ตามคำแนะนำของแพทย์
- ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนปอดอักเสบ
- ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง
- รักษาระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร
- หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำ
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ออกกำลังกาย
- ควรนัดพบแพทย์ติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ