กินวิตามินและอาหารเสริมอย่างไรไม่ให้เป็นอันตรายต่อตับไต

วิธีกินวิตามินและอาหารเสริมอย่างไรไม่ให้เป็นอันตรายต่อตับไต

 

ในปัจจุบัน ผู้บริโภคนิยมรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากขึ้น ซึ่งได้แก่ วิตามิน เกลือแร่ และสมุนไพรต่างๆ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของคนไทย พบว่าร้อยละ 70 มีความคิดเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต้องรับประทานเป็นประจำ และมีความเชื่อว่าการรับประทานวิตามินเกลือแร่และสมุนไพร จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง เสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี จึงทำให้ตลาดวิตามินและอาหารเสริมมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม หากรับประทานมากเกินไปหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายโดยเฉพาะตับและไตได้

 

วิตามินและอาหารเสริม ทำอันตรายต่อตับและไตได้อย่างไร?

ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่ในการสร้างสารที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย เช่น กลูโคส กรดอะมิโน โปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ช่วยเพิ่มการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน และยังทำหน้าที่ในการกำจัดและทำลายสารพิษหรือสิ่งแปลกปลอมในกระแสเลือด ในขณะที่ไตมีหน้าที่กรองและขับของเสียออกจากร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต ผลิตฮอร์โมนที่จำป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยหากเกิดความผิดปกติที่ตับหรือไตเพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถฟื้นตัวเองได้ แต่หากมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มการทำงานของตับและไตเป็นเวลานาน เช่น เผชิญสารพิษเป็นประจำ การดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากเกินไป จะทำให้ตับและไตไม่สามารถขับของเสียได้ทัน ก็อาจก่อให้เกิดสารตกค้างในร่างกาย ทำลายอวัยวะ และส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆได้ นอกจากนี้การมีภาวะหรือโรคร่วมก็อาจทำให้ตับไตทำงานหนักในการกำจัดของเสียได้ เช่น อ้วนลงพุง ไขมันพอกตับ ไวรัสตับอักเสบ ไตเรื้อรัง เป็นต้น


หากรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมมากเกินไปมีผลเสียอย่างไร?


สารสกัดขมิ้นชันวิตามิน

เป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน และสามารถเก็บไว้ที่เนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังลอก เป็นพิษต่อตับ ผมร่วง บวมน้ำ

สารสกัดขมิ้นชันวิตามินซี

เป็นวิตามินทีละลายได้ในน้ำและขับออกทางปัสสาวะ โดยหากได้รับในขนาดปกติร่างกายสามารถขับออกและตกค้างได้น้อย แต่หากได้รับมากเกินไป จะสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน แสบท้อง อ่อนแรง ผื่นคัน และอาจทำให้เกิดนิ่วที่ไตได้ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวิตามินซีทางหลอดเลือดดำหรือผู้ที่มีภาวะไตบกพร่อง


วิตามินดี

เป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน โดยทั่วไปอาการข้างเคียงของการได้รับวิตามินดีในขนาดสูงได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อ่อนเพลีย แต่หากได้รับในขนาดสูงจนเกิดพิษมักมีอาการรุนแรง โดยหากมีระดับวิตามินดีในเลือดสูงจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงเช่นกัน จะส่งผลให้เกิดการเกาะตัวกันของแคลเซียมที่กระดูก เนื้อเยื่ออ่อน หัวใจและหลอดเลือดรวมไปถึงไตได้


วิตามินอี

เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน อาการข้างเคียงโดยทั่วไป ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งท้อง อ่อนแรง และควรหลีกเลี่ยงการได้รับวิตามินอีในขนาดสูงโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากอาจทำให้โรคมีอาการแย่ลงได้


แคลเซียม

อาการข้างเคียงของการได้รับแคลเซียมโดยเฉพาะในรูปของเกลือคาร์บอเนต ได้แก่ ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดเกร็งท้อง กรดไหลย้อน การได้รับแคลเซียมในขนาดสูงอาจส่งผลทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงและทำให้เกิดนิ่วที่ไต หรือเกิดการตกตะกอนของแคลเซียมที่เนื้อเยื่อ หรือรบกวนการทำงานของฮอร์โมนไธรอยด์ได้


ซีลีเนียม

อาการข้างเคียงของการได้รับซีลีเนียมในขนาดสูงคือ เล็บเปราะหรือแตก คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ผื่นคัน ฟันเป็นคราบ เมื่อยล้า และมีความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อตับได้


ธาตุเหล็ก

เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง หากได้รับมากเกินไป อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และเกิดการเป็นพิษต่อเซลล์ ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น ตับ หัวใจ ไต ปอด


โครเมียม

การได้รับโครเมียมมากเกินความจำเป็นอาจรบกวนการนอนหลับ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อารมณ์เปลี่ยนแปลง ผื่นคันได้ และสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อตับและไตอักเสบในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับตับและไต


ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอื่นๆหรือสมุนไพรใดบ้างที่อาจที่มีผลเสียต่อตับและไต?

เนื่องจากสมุนไพร เป็นสารที่ยังไม่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ ดังนั้นอาจมีการปลอมปนกับสารเคมีชนิดอื่นที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิต ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพ้ อาการไม่พึงประสงค์ ทำให้ระดับยาที่ได้รับอยู่ประจำเปลี่ยนแปลงได้ โดยสมุนไพรที่มีรายงานอาการตับอักเสบเมื่อได้รับในระยะต่อเนื่อง ได้แก่ ชาเขียว มะขามแขก และน้ำลูกยอ แต่อย่างไรก็ตามเคสรายงานมีจำนวนน้อยและพบในคนไข้ที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่องอยู่เดิม และยังขาดการศึกษาทดลองอย่างต่อเนื่องในประชากรจำนวนมาก จึงอาจเพียงระมัดระวังในการรับประทานสมุนไพรดังกล่าว ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่มีการรายงานการเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำงานของไต ได้แก่ ครีเอตินิน โมโนไฮเดรต แอล-ไลซีน สารกัดจากชะเอม และผักผลไม้ที่สามารถเพิ่มกรดยูริกในร่างกายและเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วที่ไต เช่น แครนเบอร์รี่ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีรายงานการศึกษาน้อยเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดตับอักเสบ


กินวิตามินและอาหารเสริมอย่างไรไม่ให้เป็นอันตรายต่อตับไต?

1. รับประทานไม่เกินขนาดที่แนะนำต่อวัน โดยพิจารณาจาก ฉลากที่ระบุขนาดที่แนะนำต่อวันของผลิตภัณฑ์ Recommended Dietary Allowances (RDA) และรับประทานให้เหมาะสมกับช่วงอายุ เช่น ผู้ใหญ่ หรือเด็ก
2. หลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมซ้ำซ้อน เช่น รับประทานวิตามินรวม (Multivitamins) ร่วมกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนช่วยลดน้ำหนัก ซึ่งมักจะมีแร่ธาตุชนิดเดียวกันในผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิด ส่งผลทำให้ได้รับปริมาณวิตามินหรืออาหารเสริมเกินได้
3. เลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีหลักฐานการใช้อย่างแพร่หลาย และเข้าใจอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นและการป้องกันอย่างดี เช่น การรับประทานวิตามินซีในขนาดปกติและดื่มน้ำตามมากๆจะช่วยทำให้ร่างกายขับวิตามินซีได้ดีขึ้น
4. ศึกษาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มาจากหน่วยงานที่ไม่แสวงกำไร โดยมีผู้เขียนที่เชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์นั้น ข้อมูลมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและทันสมัย
5. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่นรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน หรืออ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นปลอดภัย ไม่มีอาการข้างเคียงใดใด
6. เนื่องจากวิตามินและอาหารเสริมเป็นสารที่จำเป็นแต่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย และสามารถได้รับจากในอาหารได้ และเนื่องจากวิตามินบางชนิดสามารถเก็บสะสมได้ในร่างกาย เช่น วิตามินที่ละลายได้ในไขมัน ได้แก่ A D E และ K จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานทุกวัน และเพิ่มการรับประทานจากอาหารที่หลากหลายและครบห้าหมู่
7. ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หากมีโรคประจำตัวหรือกำลังรับประทานยาโรคประจำตัวอยู่ ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจส่งผลเสียต่อโรคหรือยาได้

รวมสินค้าแนะนำ