หากรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริมมากเกินไปมีผลเสียอย่างไร?
ในปัจจุบัน ผู้บริโภคนิยมรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากขึ้น ซึ่งได้แก่ วิตามิน เกลือแร่ และสมุนไพรต่างๆ โดยจากการสำรวจพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของคนไทย พบว่าร้อยละ 70 มีความคิดเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต้องรับประทานเป็นประจำ และมีความเชื่อว่าการรับประทานวิตามินเกลือแร่และสมุนไพร จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง เสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี จึงทำให้ตลาดวิตามินและอาหารเสริมมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม หากรับประทานมากเกินไปหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายโดยเฉพาะตับและไตได้
ตับเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีหน้าที่ในการสร้างสารที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย เช่น กลูโคส กรดอะมิโน โปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ช่วยเพิ่มการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน และยังทำหน้าที่ในการกำจัดและทำลายสารพิษหรือสิ่งแปลกปลอมในกระแสเลือด ในขณะที่ไตมีหน้าที่กรองและขับของเสียออกจากร่างกาย ควบคุมความดันโลหิต ผลิตฮอร์โมนที่จำป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง โดยหากเกิดความผิดปกติที่ตับหรือไตเพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถฟื้นตัวเองได้ แต่หากมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มการทำงานของตับและไตเป็นเวลานาน เช่น เผชิญสารพิษเป็นประจำ การดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการได้รับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากเกินไป จะทำให้ตับและไตไม่สามารถขับของเสียได้ทัน ก็อาจก่อให้เกิดสารตกค้างในร่างกาย ทำลายอวัยวะ และส่งผลต่ออวัยวะอื่นๆได้ นอกจากนี้การมีภาวะหรือโรคร่วมก็อาจทำให้ตับไตทำงานหนักในการกำจัดของเสียได้ เช่น อ้วนลงพุง ไขมันพอกตับ ไวรัสตับอักเสบ ไตเรื้อรัง เป็นต้น
วิตามินอะไรบ้างที่รับประทานมากเกินไปแล้วมีผลเสียอย่างไร?
-
1) วิตามินเอ
เป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน และสามารถเก็บไว้ที่เนื้อเยื่อไขมันในร่างกาย หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังลอก เป็นพิษต่อตับ ผมร่วง บวมน้ำ
-
2) วิตามินซี
เป็นวิตามินทีละลายได้ในน้ำและขับออกทางปัสสาวะ โดยหากได้รับในขนาดปกติร่างกายสามารถขับออกและตกค้างได้น้อย แต่หากได้รับมากเกินไป จะสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน แสบท้อง อ่อนแรง ผื่นคัน และอาจทำให้เกิดนิ่วที่ไตได้ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวิตามินซีทางหลอดเลือดดำหรือผู้ที่มีภาวะไตบกพร่อง
-
3) วิตามินดี
เป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน โดยทั่วไปอาการข้างเคียงของการได้รับวิตามินดีในขนาดสูงได้แก่ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อ่อนเพลีย แต่หากได้รับในขนาดสูงจนเกิดพิษมักมีอาการรุนแรง โดยหากมีระดับวิตามินดีในเลือดสูงจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงเช่นกัน จะส่งผลให้เกิดการเกาะตัวกันของแคลเซียมที่กระดูก เนื้อเยื่ออ่อน หัวใจและหลอดเลือดรวมไปถึงไตได้
-
4) วิตามินอี
เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน อาการข้างเคียงโดยทั่วไป ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งท้อง อ่อนแรง และควรหลีกเลี่ยงการได้รับวิตามินอีในขนาดสูงโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากอาจทำให้โรคมีอาการแย่ลงได้
-
5) แคลเซียม
อาการข้างเคียงของการได้รับแคลเซียมโดยเฉพาะในรูปของเกลือคาร์บอเนต ได้แก่ ท้องผูก คลื่นไส้ ปวดเกร็งท้อง กรดไหลย้อน การได้รับแคลเซียมในขนาดสูงอาจส่งผลทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูงและทำให้เกิดนิ่วที่ไต หรือเกิดการตกตะกอนของแคลเซียมที่เนื้อเยื่อ หรือรบกวนการทำงานของฮอร์โมนไธรอยด์ได้
-
6) ซีลีเนียม
อาการข้างเคียงของการได้รับซีลีเนียมในขนาดสูงคือ เล็บเปราะหรือแตก คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ผื่นคัน ฟันเป็นคราบ เมื่อยล้า และมีความเสี่ยงในการเกิดพิษต่อตับได้
-
7) ธาตุเหล็ก
เป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง หากได้รับมากเกินไป อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และเกิดการเป็นพิษต่อเซลล์ ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น ตับ หัวใจ ไต ปอด
-
8) โครเมียม
การได้รับโครเมียมมากเกินความจำเป็นอาจรบกวนการนอนหลับ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อารมณ์เปลี่ยนแปลง ผื่นคันได้ และสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อตับและไตอักเสบในคนไข้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับตับและไต