อาหารเสริมที่ควรระวังสำหรับผู้ป่วยบางโรค

อาหารเสริมที่ควรระวังสำหรับผู้ป่วยบางโรค ต้องรู้ก่อนทานอาหารเสริม

 
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีโฆษณาของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคอาจเชื่อในข้อดีของผลิตภัณฑ์ โดยไม่ได้คำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากรับประทานมากเกินความจำเป็น หรือผิดวิธี ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างมากกับผู้บริโภคที่มีโรคประจำตัว หรือมีการตีกันกับยาที่รับประทานอยู่ ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือโรคที่ควรเฝ้าระวังเนื่องจากมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงได้บ่อย มีดังต่อไปนี้
 
 ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมักรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่เป็นประจำ เช่น Aspirin Warfarin เพื่อไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในร่างกาย จึงต้องมีการตรวจติดตามการแข็งตัวของเลือดอยู่เสมอ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพและอาการข้างเคียงของยา มีการรายงานว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้แก่ น้ำมันปลา กระเทียม แปะก๊วย โสมอเมริกัน (Panax quinquefolius) St. John’s wort และวิตามินอีในปริมาณสูง (> 400 IU ต่อวัน) สามารถเสริมฤทธิ์ยาต้านการแข็งตัวของเลือดได้ โดยจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงยาต้านการแข็งตัวของเลือดมากขึ้น ได้แก่ เลือดออก ปัสสาวะเป็นสีคล้ำ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ไอหรืออาเจียนเป็นเลือด ดังนั้นผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ร่วมกับยาดังกล่าวเพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการการออกฤทธิ์ที่ขัดแย้งกัน
 

2.ผู้ป่วยที่รับประทานยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด

 
ควรระมัดระวังการรับประทานผลิตภัณฑ์สมุนไพร St. John’s wart ในผู้ป่วยที่กำลังรับประทานยา digoxin (ยาต้านการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ รักษาโรคหัวใจล้มเหลว) verapamil (ยาลดความดันโลหิต) และยากลุ่ม statin (ยาลดไขมันในเลือด) โดยสมุนไพรดังกล่าวสามารถลดประสิทธิภาพการรักษาจากยาข้างต้นและทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอาการได้
 

3.ผู้ป่วยที่รับประทานยารักษาการทางจิต

เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชมากขึ้น ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับการรักษากับแพทย์ มักได้รับยาเพื่อบรรเทาอาการให้สงบ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบได้ง่ายในท้องตลาด สามารถเกิดอันตรกิริยากับยาที่รับประทานอยู่ได้ ตัวอย่าง เช่น การรับประทานแปะก๊วย ร่วมกับยาต้านจิตเภทกลุ่ม atypical antidepressant ได้แก่ bupropion, trazodone จะทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมและอารมณ์แปรปรวนได้ หรือการรับประทานโสมร่วมกับยากลุ่ม monoamine oxidase inhibitors ได้แก่ selegiline and rasagiline จะทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์แปรปรวน ปวดศีรษะ และ ใจสั่นได้ และการรับประทาน สมุนไพร St. John’s wort ที่มีผลต่อการทำงานของตับ เมื่อรับประทานร่วมกับ ยาต้านอาการทางจิตกลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors ได้แก่  fluoxetine, sertraline ยากลุ่มBenzodiazepine ได้แก่diazepam, clonazepam และยากลุ่ม Tricyclic antidepressants ได้แก่ Amitriptyline, Nortriptyline จะทำให้ลดประสิทธิภาพของยาข้างต้น และทำให้ผลในการรักษาไม่เป็นไปตามกำหนด
 

4.ตามวัยคนไข้โรคไต

โรคไตเป็นโรคเรื้อรังซึ่งไตไม่สามารถกรองของเสียได้ตามปกติ  ดังนั้นเพื่อให้ไตไม่ทำหน้าที่หนัก
เกินไป ผู้ป่วยโรคไตจึงต้องมีการรักษาความดันโลหิตและระดับสมดุลเกลือแร่ในร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอ มีการรายงานว่า การใช้สมุนไพรหญ้าหนวดแมว กระเจี๊ยบ และยาถอดปล้องหรือหญ้าหางม้า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน จะทำให้ไตเสื่อมสภาพมากขึ้น เนื่องจากมีฤทธิ์ขับปัสสาวะและลดการขับโพแทสเซียมออกจากร่างกาย ปัจจุบันคนไทยนิยมการบริโภคโสม และ ถังเช่ามากขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาและอวดอ้างถึงสรรพคุณในการรักษาอาการต่างๆ เช่น เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยการทำงานของไตให้เป็นปกติ แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาทดลองยังมีจำนวนน้อย และยังไม่มีการศึกษาประสิทธิภาพและอาการข้างเคียงในระยะยาว อีกทั้งยังมีการรายงานถึงอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับสมุนไพรดังกล่าวในคนไข้โรคไต ดังนั้นจึงควรมีการปรึกษาแพทย์ก่อน ผู้ป่วยโรคไตยังควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแร่ธาตุฟอสเฟต หรือ วิตามินดี เนื่องจากสารเหล่านี้ขับออกได้ยากในคนไข้ที่ไตเสื่อมสภาพ โดยผลิตภัณฑ์ที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ น้ำมันรำข้าว เกสรผึ้ง ข้าวสาลี วิตามินรวม และน้ำมันปลา ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสมุนไพรที่ลดอาการปวดเมื่อย เช่น เถาวัลย์เปรียง ซึ่งมีผลต่อการทำงานของไตโดยตรง นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังควรศึกษาและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมและกรดยูริกสูง เช่น น้ำลูกยอ สาหร่ายสไปรูริน่า ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไตได้
 

5.ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่สลาย
อาหารที่รับประทานเป็นพลังงานแก่ร่างกาย โดยทั่วไปสามารถพบโรคเบาหวานได้ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 คือร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ทำให้ผู้ป่วยขาดพลังงาน อ่อนแรง จึงต้องได้รับการฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าร่างกายโดยตรง และเบาหวานประเภทที่ 2 คือ ผู้ป่วยมีฮอร์โมนอินซูลินแต่ร่างกายไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนื่องจากมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น อ้วนลงพุง ไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย คนไข้ประเภทนี้มักได้รับยาที่ปรับให้ร่างกายไวต่อการทำงานของอินซูลิน ได้แก่ metformin โดยอาการข้างเคียงที่พบมากของผู้ป่วยที่ได้รับยาลดระดับน้ำตาลในเลือด คือ ภาวะน้ำตาลต่ำ โดยจะมีอาการเช่น หน้ามืด ใจสั่น วิงเวียน หรือหากมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำมากเกินไปอาจเกิดการช็อคได้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในปัจจุบันหลายชนิดมีงานวิจัยถึงประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่ โสม มะระขี้นก อบเชย alpha lipoic acid และ chromium ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาก่อนทุกครั้งหากต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวร่วมด้วย เนื่องจากอาจเสริมฤทธิ์ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดและมีโอกาสทำให้เกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้
 

6.ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดผิดปกติ

ผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดผิดปกติ ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ คือ มีโคเลสเตอรอล แอลดีแอล สูง หรือ มี เอชดีแอล ต่ำ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ในขณะเดียวกันหากมีระดับไขมันประเภทไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงจะสัมพันธ์กับภาวะไขมันพอกตับโดยมักจะเกี่ยวข้องกับเบาหวานและไขมันในเลือดสูง หากมีระดับไขมันในเลือดสูงไม่มาก ผู้ป่วยสามารถปรับกิจวัตรประจำวันเพื่อลดระดับไขมันลง เช่น เพิ่มการออกกำลังกายหรือคุมอาหาร หรืออาจพิจารณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีหลักฐานช่วยลดระดับไขมันในเลือดร่วมด้วย เช่น แพลนท์ สเตอรอล สตานอล เส้นใยชนิดละลายน้ำ ข้าวยีสต์แดง สารสกัดจากกระเทียม เบอร์บีรีน สารสกัดจากชาเขียว และ โอเมก้า3 แต่หากระดับไขมันในเลือดสูงเกินกว่าที่จะควบคุมได้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดไขมันในลือด โดยส่วนมากมักได้รับยาในกลุ่ม statin และเนื่องจากยากลุ่มนี้สามารถเกิดการขัดแย้งกันกับสารอื่นได้หลายชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ได้แก่ ข้าวยีสต์แดง เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ออกฤทธิ์คล้ายยากลุ่ม statin จึงสามารถเพิ่มการเกิดอาการข้างเคียงได้ หรือสารสกัดจากชาเขียวในปริมาณ 300-600 มิลลิกรัม ก็มีการรายงานว่าสามารถลดระดับของยา atorvastatin ได้ลงมากกว่า 25% ทำให้ไม่ได้ผลการรักษาที่ต้องการ ดังนั้นจึงควรมีการระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์ร่วมกับยากลุ่มนี้
 
แม้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะดูปลอดภัย แต่ผลิตภัณฑ์บางประเภทเมื่อได้รับในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังได้รับยาที่แพทย์สั่ง อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงทำให้ให้โรคนั้นแย่ลง หรือออกฤทธิ์ขัดแย้งกับยาที่รับประทานอยู่ได้ โดยจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์กับโรคหรือมีการออกฤทธิ์ขัดแย้งกับยามากที่สุด เนื่องจากสมุนไพรเป็นสารที่ยังไม่ผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์ มีสารอินทรีย์และอนินทรีย์ปนเปื้อน และยังมีงานวิจัยที่สนับสนุนประสิทธิภาพและอาการข้างเคียงในระยะยาวน้อย  ในขณะที่ยาเป็นสารบริสุทธิ์และผ่านการวิจัยทดลองในมนุษย์และสามารถคาดการณ์การออกฤทธิ์หรือโอกาสในการเกิดอาการข้างเคียงได้
 
ดังนั้นผู้บริโภคควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้งหากต้องการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัวหรือกำลังรับประทานยาร่วมด้วยเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพจากยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ต้องการใช้มากที่สุด

รวมสินค้าแนะนำ