โรคเอดส์ อาจสูญพันธุ์ไปในอนาคต จริงหรือ?

สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยยอดคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในปี 2563 คือ 6,628  และปี 2564 คือ 5,825 คน (ศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศด้านเอชไอวีในประเทศไทย) อาจเพราะผู้ที่มีความเสี่ยง สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้มากขึ้น

สำหรับผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่ยังมีชีวิตอยู่ มีประมาณ 500,000 คน กำลังได้รับยาประมาณ 390,000 คน เสียชีวิต ประมาณ 12,000 คน สำหรับยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก ณ ตอนนี้ มีประมาณ 37.7 ล้านคน (ข้อมูลจาก WHO)

แต่ในขณะเดียวกัน โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ออกมากระตุ้นให้ประเทศต่าง ๆ กลับมาให้ความสำคัญกับเอชไอวี/เอดส์ อีกครั้ง หลังจากพบสัญญาณว่าโรคติดเชื้อชนิดนี้ถูกละเลยไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเอชไอวี/เอดส์ถึง 7.7 ล้านคนภายในระยะเวลา 10 ปี

HIV กับเอดส์ ต่างกันนะ

  • เชื้อ HIV เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่องถ้าไม่รีบรักษา จนเป็นระยะสุดท้าย จะทำให้ป่วยเป็นโรคเอดส์
  • โรคเอดส์ คือ การติดเชื้อ HIV ในระยะสุดท้าย โดยระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนไม่สามารถต้านทานโรคต่างๆ ได้

เชื้อ HIV สามารถติดต่อได้หลายทาง

  • การมีเซ็กส์แบบไม่ป้องกันหรือใส่ถุงยาง กับคนที่มีเชื้อ HIV โดยเชื้อสามารถติดผ่านทางสารคัดหลั่ง เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำนม ( ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดเชื้อ HIV ผ่านทางน้ำลาย ปัสสาวะ น้ำตา หรือเหงื่อ)
  • ติดผ่านเลือดโดยการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้มีเชื้อ HIV หรือการได้รับเลือดจากผู้ที่มีเชื้อ HIV
  • การติดจากแม่สู่ลูก ระหว่างตั้งครรภ์ (เสี่ยง 90-100%) ระหว่างคลอด (เสี่ยง 60%) รวมถึงการให้นมบุตร (เสี่ยง 20-30%)

การติดเชื้อ HIV แบ่งได้ 4 ระยะ

1. ระยะติดเชื้อเฉียบพลัน คือ ได้รับเชื้อมาใหม่ๆ บางคนอาจจะมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่อีกส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองติด

2. ระยะไม่ปรากฏอาการ สามารถแพร่เชื้อให้กับบุคคลอื่นได้ง่ายโดยการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน  

ระยะที่ 1-2 นี้หากรู้ทัน รีบทานยาต้านการแบ่งตัวไวรัสทุกวันไปตลอดชีวิต จะสามารถทำให้เข้าสู่ระยะอื่นได้ช้าลง และหลายรายไม่เข้าสู่ระยะ 3,4 เลย

3. ระยะมีอาการ คือ เริ่มมีฝ้าขาวในปาก มีตุ่มคันขึ้นตามแขนขา มีไข้เรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ ท้องเสียเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด ระยะนี้ต้องทานยาอย่างเคร่งครัด และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทำให้ไม่ก้าวไปสู่ระยะสุดท้าย

4. ระยะเอดส์ คือ ระยะนี้ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะถูกทำลายลงไปมาก สามารถทราบได้จากการตรวจเลือดจะพบเม็ดเลือดขาวชนิดซีดีสี่ (CD4)ลดลง อาจจะมาพบแพทย์ด้วยวัณโรค เชื้อราในปอด เป็นต้น หากเข้าสู่ระยะนี้ มักจะเสียชีวิตในเวลาไม่นาน

ติดเชื้อ HIV หายได้ไหม?

  • ปัจจุบัน การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี ยังคงเป็นการรักษาด้วยการทานยาต้านไวรัส เพื่อยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนขึ้น จนพัฒนาไปสู่ระยะสุดท้าย และเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น วัณโรค โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคคริปโตค็อกคัสในระบบประสาท ภาวะปอดอักเสบจากเชื้อรา
  • สำหรับการรักษาที่หายขาดนั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก ปัจจุบันมีเพียงผู้ป่วยหลายรายที่ทายาต้านไวรัสแต่เนิ่นๆ จนไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกาย แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงต้องทานยาไปตลอดชีวิต และทานเป็นประจำทุกวันอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ขาด

เนื่องจากการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เป็นการรักษาระยะยาว ส่วนใหญ่มักมีผลข้างเคียงจากยาต้านเอชไอวี แพทย์จึงมีความจำเป็นต้องติดตามอาการ ทุก 6 เดือน เพื่อเป็นการติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยา หากพบผลข้างเคียงที่มากเกินไปจนผู้ติดเชื้อไม่สามารถทนต่อยานั้น ได้ แพทย์ก็จะทำการปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับผู้ติดเชื้อแต่ละราย

วัคซีนเอดส์กำลังเร่งทดลอง

บริษัทโมเดอร์นา’ จับมือโครงการวัคซีนเอดส์ พัฒนาวัคซีน ‘เอชไอวี’ ด้วยเทคโนโลยี mRNA (รหัสคำสั่ง) คล้ายวัคซีนป้องกัน Covid-19 แต่ใช้โปรตีนจากเชื้อไวรัส HIV มาพัฒนาในรูปแบบของ mRNA เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกาย รหัสคำสั่ง นี้จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างโปรตีนจำลองเสมือนของเชื้อ HIV แล้วจากนั้นร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานมาจดจำเพื่อฆ่าเชื้อไวรัส HIV ได้ในอนาคตหากไปมีความเสี่ยงมา โดยเริ่มทดลองในมนุษย์แล้วในปี 2021 คาดว่าผลการทดลองจะได้ข้อสรุปประมาณปี 2023

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อติดเชื้อ HIV

  • เริ่มการรักษาโดยการกินยาทันทีเมื่อทราบว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี
  • รับประทานยาทุกวัน และตรงเวลา
  • พบแพทย์เสมอเมื่อถึงเวลานัด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารมีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • ออกกำลังกายเพื่อ ดูแลร่างกายให้แข็งแรง
  • ดูแลสุขภาพจิต พยายามมองโลกในแง่ดี
  • เลิกบุหรี่ สิ่งเสพติดและแอลกอฮอล์ เพราะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานหนักขึ้น
  • งดมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยไม่ป้องกัน

โรคเอดส์จะยังไม่สูญพันธุ์เร็วๆนี้ เพราะ

  • เรายังไม่สามารถหาวัคซีนที่ป้องกันได้ 100%
  • เชื้อเอชไอวี หลบหนีภูมิคุ้มกันของร่างกายเก่งมาก โดยจะทำการแอบแฝงในเม็ดเลือดของขาว (ที่เป็นตัวฆ่าเชื้อไวรัส ) แล้วแพร่กระจายเพิ่มจำนวนในเซลล์ที่ระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นการกินยาจะช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อมีมากไปกว่าเดิม แต่จะฆ่าไม่ได้ 100%
  • ปัจจุบัน พบการกลายพันธุ์เพิ่มมากมาย เพราะปรับตัวเก่งตามธรรมชาติ ล่าสุด มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ เผยแพร่บทความลงในนิตยสาร Science ว่า มีการค้นพบเชื้อ HIV กลายพันธุ์ ชื่อ สายพันธุ์ VB ซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าทำลายระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ และทำให้ผู้ติดเชื้อกลายเป็นผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเอดส์ เร็วขึ้นถึง 2 เท่าหากเทียบกับเชื้อ HIV สายพันธุ์ทั่วไป

ดังนั้นเราสามารถเสริมภูมิต้านทานร่างกายได้หลากหลายวิธี เช่น นอนแต่หัวค่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือทานอาหารที่อุดมด้วยสารเพิ่มภูมิคุ้มกันเช่น

  • เห็ดต่างๆ เพราะเห็ดมีสารเบต้ากลูแคน ซึ่งกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่ช่วยในการฆ่าเชื้อโรคได้ดี
  • วิตามินซี ในผักและผลไม้รสเปรี้ยว ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย
  • วิตามินดี จากปลา ช่วยสร้างสารแคทเธลิซิดิน (Cathelicidin) ทำให้เม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้โรคได้มากขึ้น
  • โปรไบโอติกส์ (Probiotics) หรือจุลินทรีย์ชนิดที่ดี เช่น ตระกูล Lactobacillus และ Bifidobacterium ในนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวที่เยื่อบุผนังลำไส้เล็กส่วนปลาย