แดดเมืองไทยสุดจะสตรอง ร้อนแรงตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลาเคารพธงชาติยามเช้าลากยาวไปจนเลยเวลาเชิญธงชาติลงจากยอดเสาในเวลาเย็น สำหรับคนรักผิวจะทากันแดดบางทีก็เหนอะหนะ แถมต้องทาซ้ำบ่อยครั้งระหว่างวันถึงจะมีป้องกันผิวได้อย่างต่อเนื่อง ถ้ามีกันแดดแบบกินที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผิวถูกรังสี UV, visible light และ infrared ในแสงแดดที่คอยทำร้ายผิว ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดผิวไหม้ กระ ฝ้า ริ้วรอย หรือเป็นตัวการซึ่งนำไปสู่การเป็นมะเร็งผิวหนังได้ก็คงจะดี
ปัจจุบันมีสารหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นวิตามิน เกลือแร่ สารกลุ่มโพลีฟีนอล และแคโรทีนอยด์ที่ถูกนำมาศึกษาถึงความสามารถในการป้องกันแสงแดด เหตุเพราะสารเหล่านี้มีคุณสมบัติในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และบางตัวก็มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันผิวหนัง ซึ่งในบรรดาสารที่กล่าวมาแล้ว กลุ่มที่ให้ผลดีที่สุดและมีงานวิจัยที่เชื่อถือได้ในประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดก็คือสารในกลุ่มแคโรทีนอยด์
ชื่อของแคโรทีนอยด์อาจจะทำให้คุณผู้อ่านนึกถึงพวกผักผลไม้สีส้มแดง ใช่ค่ะสารในกลุ่มนี้พบได้ตามธรรมชาติในผักและผลไม้มากถึง 50 ชนิดด้วยกัน แต่มีแคโรทีนอยด์เพียง 6 ชนิดเท่านั้นที่พบเป็นหลักในเลือดของมนุษย์ ได้แก่ อัลฟาแคโรทีน เบต้าแคโรทีน ซีแซนทีน ลิวทีน เบต้าคริปโตแซนทีน และไลโคปีน บทความนี้จะเน้นที่แคโรทีนอยด์ชนิดที่นิยมนำมาใช้กันเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้แก่ ไลโคปีน แอสตร้าแซนทีน ลิวทีน ซีแซนทีน และเบต้าแคโรทีนกับความสามารถในการป้องกันแสงแดดนะคะ
ไลโคปีน
ไลโคปีนพบมากในผักผลไม้ที่มีสีแดง ยกเว้นสตรอว์เบอรี่และเชอร์รี่ ส่วนผักผลไม้ที่ถือเป็นราชาแห่งไลโคปีนเพราะมีไลโคปีนมากที่สุดคือมะเขือเทศ ไลโคปีนมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่ดีและแรงมากที่สุดในแคโรทีนอยด์ทั้งหมด สามารถลดการเกิดอนุมูลอิสระชนิด ROS (Reactive Oxygen Species) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบและความเสื่อมต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งริ้วรอยบนผิวได้ ทั้งการศึกษาในหลอดทดลองและการศึกษาในมนุษย์สรุปได้ว่า ไลโคปีนมีความสามารถในการปกป้องเซลล์ของร่างกายเมื่อถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวี การรับประทานไลโคปีนเป็นประจำทำให้เอนไซม์ MMP-1 (Matrix metalloproteinase-1) ซึ่งเป็นตัวทำลายคอลลาเจนทำงานลดลง ลดการทำลายดีเอ็นเอ ลดโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนัง มีการศึกษาในมนุษย์ที่พบว่าเมื่อรับประทานไลโคปีนต่อเนื่องกันเป็น 10 สัปดาห์แล้วทดลองให้อาสาสมัครได้รับแสงยูวี พบว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับไลโคปีนมีอาการผิวไหม้แดง (erythema) จากแสงแดดน้อยลดลง 40% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ
แคโรทีนอยด์ไม่ได้มีแต่ในพืชผักนะคะในสัตว์ก็มีเหมือนกัน แอสตร้าแซนทีนเป็นแคโรทีนอยด์ที่พบมากในปลาและหอย มีคุณสมบัติเป็นต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ยับยั้งการสร้าง lipid peroxide ที่ถูกกระตุ้นด้วยยูวีเอ ปกป้องเซลล์จากแสงแดด การรับประทานแอสตร้าแซนทีนก่อนได้รับรังสียูวีเอและยูวีบีช่วยลดการทำงานของเอนไซม์ MMP-1 และ MMP-13 ลดการทำลายคอลลาเจนที่ผิว และลดการเกิดผิวแก่ก่อนวัยจากแสงแดดได้ นอกจากปกป้องผิวจากแสงแล้วยังพบว่าการรับประทานแอสตร้าแซนทีนช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของผิว เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนังชั้นอีพิเดอร์มิส และทำให้ปราการผิวแข็งแรงด้วยล่ะค่ะ
ลิวทีน กับ ซีแซนที
ตัวต่อไปมาเป็นคู่ จริง ๆ แล้วลิวทีนกับซีแซนทีนมักได้รับความสนใจในฐานะแคโรทีนอยด์ที่ช่วยบำรุงสายตา เพราะสารสองตัวนี้พบในเรตินาของมนุษย์ถึง 80-90% แต่นอกจากที่ตาแล้วยังเป็นแคโรทีนอยด์ชนิดที่พบในกระแสเลือด 20-30% ที่ต้องเรียกชื่อมาเป็นคู่แบบนี้เพราะว่าโครงสร้างทางเคมีของสารสองชนิดนี้เรียกได้ว่าเป็นพี่น้องกัน ลิวทีนมีมากในผักสีเขียว เช่น เมล็ดถั่วแขก ผักโขม และบร็อคโคลี่ ส่วนซีแซนทีนพบมากในข้าวโพด พบว่านอกจากจะมีประโยชน์ต่อสายตาแล้ว สารทั้งสองชนิดนี้มีประโยชน์กับผิว เพราะมีฤทธิ์ชะลอวัย ต้านอนุมูลอิสระ และลดการอักเสบจากรังสีแสงยูวีได้ด้วย
เบต้าแคโรทีน
การรับประทานเบต้าแคโรทีนก็ช่วยลดผิวไหม้แดงจากแสงยูวีได้เช่นเดียวกัน ส่วนประสิทธิภาพจะดีแค่ไหนขึ้นกับปริมาณและระยะเวลาที่ใช้ ในงานวิจัยหลายชิ้นที่พิสูจน์ว่าเบต้าแคโรทีนช่วยป้องกันแสงแดดได้ เป็นงานวิจัยที่ให้อาสาสมัครรับประทานเบต้าแคโรทีนขนาดสูงวันละ 12 มิลลิกรัมขึ้นไป และรับประทานนานกว่า 10 สัปดาห์ นอกจากเบต้าแคโรทีนจะมีประโยชน์กับคนทั่วไปแล้ว ยังพบว่าการให้เบต้าแคโรทีนในผู้ป่วยที่เป็นโรค Erythropoietic photoporphyria ช่วยลดอาการไวต่อแสงแดดของผู้ป่วยได้ถึง 80% ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ช่วยกันแดดที่มีจำหน่ายในท้องตลาดมีทั้งชนิดเดี่ยวและแบบที่มีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดผสมกัน ซึ่งอาจจะประกอบด้วยแคโรทีนอยด์หลายชนิดรวมกัน หรือแคโรทีนอยด์ร่วมกับวิตามิน เช่น วิตามินอี หรือวิตามินซี และสารสกัดจากพืชชนิดอื่น ๆ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยกันแดดได้จะมีอยู่จริง แต่ไม่ได้แปลว่ารับประทานปุ๊ป ออกไปตากแดดปั๊ป แล้วจะป้องกันผิวของเราได้ทันที แต่ในงานวิจัยจะให้อาสาสมัครรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้เป็นเวลา 10-12 สัปดาห์แล้วจึงฉายรังสียูวีลงบนผิวของอาสาสมัคร เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด ดังนั้นหากใครจะเลือกใช้ก็ต้องใช้ให้ถูก โดยการรับประทานอย่างต่อเนื่องและยาวนานพอก่อนที่จะไปเริงร่าท้าแดด ที่สำคัญอยากจะเน้นว่ากินแล้วไม่ทากันแดดไม่ได้! เพราะกันแดดแบบรับประทานให้ผลต้านอนุมูลอิสระมาจากภายในร่างกาย แต่ไม่ได้ปกป้องผิวหนังจากการสัมผัสกับแสงโดยตรง หากไม่ทากันแดดก็เสี่ยงต่อการเกิดผิวไหม้ เกิดกระ เกิดฝ้าให้ช้ำใจได้อยู่ดี
ดังนั้นใครมีแพลนจะไปเที่ยวทะเล ไปปีนเขา หรือแม้แต่จะไปนั่งเล่นตามคาเฟ่เอาดอร์ให้แดดโลมเลียผิว อย่าลืมทากันแดดให้ทั่ว ๆ ร่วมกับการรับประทานอาหารเสริมกันแดดยาว ๆ เพื่อการปกป้องผิวทั้งภายในและภายนอกไปพร้อม ๆ กันนะคะ