“กลูโคซามีน” ชื่อนี้คงคุ้นหูคุ้นตาคุณผู้อ่านกันดี ได้ยินปุ๊ป รับรองว่านึกถึงข้อปั๊ป โดยเฉพาะข้อเข่าที่เมื่ออายุมากขึ้นจะนั่งกับพื้นก็โอ้ย จะลุกก็อูย ลงบันไดก็แทบจะร้อง เพราะเข่าเริ่มส่งสัญญาณเรียกร้องความสนใจผ่านการปวดให้เจ้าตัวทราบว่าข้อกระดูกอ่อนเริ่มมีการเสื่อมตามวัย
สาเหตุอาการของโรคข้อเสื่อม
สาเหตุที่เข่าเป็นข้อแรกในร่างกายที่บ่งบอกให้เจ้าของร่างกายทราบว่าเริ่มมีอาการของโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) ก็เพราะเข่าคือข้อที่มีขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เคลื่อนไหวมาก และรับน้ำหนักของร่างกายตลอดเวลา จะทำความเข้าใจกับการเสื่อมของข้อว่าเป็นอย่างไร ทำไมจึงก่อให้เกิดการปวด? ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจลักษณะของข้อกันก่อน ข้อในร่างกาย ไม่ว่าจะข้อใหญ่อย่างข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ หรือข้อเล็กอย่างข้อนิ้วมือ ขึ้นชื่อว่าข้อแล้วเป็นบริเวณที่กระดูกสองชิ้นมาบรรจบกัน โดยมีกระดูกอ่อนบุที่ปลายทำหน้าที่เหมือนเบาะหรือฟองน้ำคอยป้องกันไม่ให้กระดูกสองชิ้นเกิดการเสียดสี หรือกระทบกันโดยตรง นอกจากนั้นยังมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อ (synovial fluid) ที่ทำหน้าที่หล่อลื่นข้อให้ทำให้การเคลื่อนไหวเกิดขึ้นได้โดยสะดวก แต่เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น น้ำหนักตัวมากขึ้น หรือคนที่มีกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระแทกที่ข้อบ่อย ๆ เช่น นักฟุตบอลที่ล้มแล้วเกิดการกระแทกที่เข่าซ้ำ ๆ จะทำให้กระดูกอ่อนมีน้ำลดลง ผุ กร่อน ปลายกระดูกหนา บาน ผิดไปจากรูปเดิมทำให้ข้อทั้งสองเกิดการขัดสีกันมากขึ้น นำไปสู่การเจ็บ ปวด อักเสบของข้อ และทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวกได้
ถ้าเริ่มมีอาการของโรคข้อเสื่อมจะต้องทำอย่างไร?
-
1) วิธีการที่แพทย์จะแนะนำ เริ่มตั้งแต่การจัดการที่สาเหตุ ร่วมไปกับการรักษา
เช่น หากคนไข้เป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ แพทย์จะแนะนำให้ลดน้ำหนักลงเพื่อลดการทำงานหนักของข้อ งดเว้นการนั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบซึ่งเป็นท่านั่งที่ทำให้ข้อเข่าเกิดอาการบาดเจ็บได้ หลีกลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้ข้อต้องรับบทหนักอย่างการกระโดด หรือการวิ่ง เปลี่ยนไปออกกำลังด้วยวิธีที่มีแรงกระแทกต่อข้อไม่มากด้วยการว่ายน้ำหรือขี่จักรยานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อข้อ ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด รับประทานยาแก้ปวดและลดอาหารอักเสบของข้อหากมีอาการรุนแรง และสุดท้ายถ้ามีอาการเป็นระยะเวลานาน ข้อมีความเสื่อมมาก อาจต้องถึงขั้นเปลี่ยนเอาข้อเดิมออกและใส่ข้อเทียมเข้าไปทดแทน ซึ่งน่าจะเป็นสุดทางที่คงไม่มีใครอยากไปถึง
-
2) ทานกลูโคซามีน
กลูโคซามีนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย แต่ไม่ใช่ว่าซื้อสุ่มสี่สุ่มห้าได้นะคะ เพราะกลูโคซามีนที่ขายมีทั้งแบบกลูโคซามีนซัลเฟต กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ และเอ็น-อะเซทิลกลูโคซามีน ซึ่งแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ใช้ทดแทนกันไม่ได้ ชนิดที่มีผลวิจัยว่ามีประสิทธิภาพ ออกฤทธิ์ได้ในการดูแลข้อ และเป็นชนิดที่ควรเลือกซื้อคือ “กลูโคซามีนซัลเฟต” เนื่องจากผลวิจัยยืนยันว่ากลูโคซามีนซัลเฟตที่ใช้กับข้อเสื่อมได้ แม้จะไม่ได้มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดหรือลดการอักเสบของข้อโดยตรง แต่เพราะกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นส่วนประกอบของ glucosaminoglycan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนและน้ำหล่อเลี้ยงข้อ การรับประทานกลูโคซามีนซัลเฟตจึงช่วยเพิ่มน้ำในข้อ ลดการเสียดสี เพิ่มความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และการฟื้นตัวของกระดูกอ่อน นอกจากนั้นยังยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ทำลายและเพิ่มการสร้างกระดูกอ่อนไปควบคู่ไปด้วย ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานคือวันละ 1500 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานมื้อละ 500 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยรับประทานพร้อมอาหารเพื่อลดโอกาสเกิดการระคายเคืองในทางเดินอาหาร
-
3) ด้านความปลอดภัยในการใช้งานกลูโคซามีน
ข้อควรระวังในการใช้กลูโคซามีนซัลเฟต คือ ห้ามรับประทานในผู้ที่แพ้อาหารทะเล โดยเฉพาะแพ้สัตว์น้ำที่มีเปลือก (shell fish) ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของกลูโคซามีน ควรระมัดระวังในผู้ที่เป็นโรคหอบหืดเพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีประวัติเป็นต้อหินอยู่เดิม เพราะกลูโคซามีนส่งผลทำให้ความดันตาสูงขึ้น และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาวาฟาริน เนื่องจากการรับประทานกลูโคซามีนอาจทำให้ระดับยาวาฟารินในเลือดสูงขึ้น มีโอกาสเลือดออกได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนั้นยังพบว่าการรับประทานยาพาราเซตามอลร่วมกับกลูโคซามีนอาจเพิ่มฤทธิ์ของกันและกัน ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานกลูโคซามีนเมื่อต้องรับประทานยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล
-
4) เม็ดและเป็นผงในซองที่ต้องผสมน้ำก่อนดื่มต่างกันมั้ย
คุณผู้อ่านอาจจะเคยเห็นกลูโคซามีนทั้งที่เป็นเม็ดและเป็นผงในซองที่ต้องผสมน้ำก่อนดื่ม แล้วมีความสงสัยว่าสองรูปแบบนี้แตกต่างกันหรือไม่ แบบไหนดีกว่ากัน ที่จริงแล้วตราบใดที่สารสำคัญยังเป็นชื่อเดียวกัน มีปริมาณเท่ากัน ถือว่าใช้ทดแทนกันได้ คุณผู้อ่านสามารถเลือกได้ตามความสะดวกในการรับประทาน เพราะเมื่อปริมาณกลูโคซามีนซัลเฟตต่อเม็ดค่อนข้างมากทำให้เมื่อเป็นยาเม็ดขนาดของเม็ดยาจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ บางคนมีปัญหาในการกลืน จึงอาจเปลี่ยนมารับประทานแบบผงที่ต้องละลายน้ำก่อนรับประทาน ซึ่งยาในรูปแบบนี้มีข้อดีเพิ่มอีกข้อคือ เมื่อรับประทานแล้วสามารถดูดซึมได้ทันที ไม่ต้องรอการแตกตัวเหมือนรูปแบบเม็ด
- ใครเข่าร้องกร๊อบแกร๊บชวนขายหน้าเวลาลุก ๆ นั่ง ๆ ต่อหน้าคนอื่น หรือเริ่มเจ็บข้อเข่าเวลาเดินเหิน ลองพิจารณาด้วยตนเอง ร่วมกับการปรึกษาแพทย์และเภสัชกรดูนะคะว่าถึงเวลาหรือยังที่คุณจะดูแลข้อของคุณด้วยการรับประทานอาหารเสริมกลูโคซามีน