อัลไซเมอร์คืออะไร

อัลไซเมอร์หรือเธอแค่ลืม

จากสถิติจากมูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย ปัจจุบันมีคนไทยเป็นโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 800,000 คน และตัวเลขมีแนวโน้มสูงมากขึ้นปีละ 30,000 คน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประกาศตามหาผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์เดินหายออกไปจากบ้านหรือการดูแลของลูกหลานจึงมีให้เห็นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ  โรคอัลไซเมอร์คืออะไร? ก่อนจะทำความรู้จักกับโรคอัลไซเมอร์ อยากชวนคุณผู้อ่านมาทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อมก่อน เพราะภาวะสมองเสื่อมคือกลุ่มอาการของความผิดปกติในสมองซึ่งเป็นร่มใหญ่ของโรคอีกหลายชนิด และอย่างที่เรารู้กันว่าสมองไม่ใช่อวัยวะชิ้นเดียวแต่ประกอบไปด้วยหลายส่วน แต่ละส่วนแต่ละตำแหน่งทำหน้าที่ควบคุมร่างกายอวัยวะ ความคิด ความจำและทำหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนั้นสมองส่วนไหนเสื่อม การทำงานของสมองส่วนนั้นก็จะเสียไป การเสื่อมของสมองแต่ละส่วนจึงแสดงออกทางกายได้หลากหลายอาการ


ภาวะสมองเสื่อมแบ่งเป็น 2 ประเภท

คือประเภทที่รักษาให้หายขาดได้ พบได้ประมาณ 20% เช่น หลอดเลือดสมองตีบตัน เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมอง ขณะที่ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หายขาดพบถึง 80% โดยที่พบมากที่สุดคือโรคอัลไซเมอร์คิดเป็น 60-70% จากประชากรโลกทั้งหมดที่มีภาวะสมองเสื่อมจำนวน 50 ล้านคน ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ชื่อของโรคอัลไซเมอร์จึงคุ้นหูคุ้นตาและเป็นธรรมดาที่จะมีคนที่เรารู้จักที่เป็นโรคนี้อยู่รอบตัว


10 สัญญาณเตือนของโรคอัลไซเมอร์

  • 1) ลืมในเรื่องที่กระทบกับชีวิตประจำวัน  

    การลืมลักษณะนี้เป็นอาการเริ่มแรกของโรค เช่น ลืมวัน ลืมนัดหรือลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ถามคำถามเดิมซ้ำไปซ้ำมาเพราะจำไม่ได้ว่าถามไปแล้ว และต้องให้คนรอบข้างเตือนความจำหรือใช้อุปกรณ์เตือนความจำมากขึ้นในเรื่องที่เคยจัดการด้วยตัวเองได้

  • 2) การวางแผนหรือแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องยากขึ้น 

    โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเลข ผู้ป่วยอาจจะพบอุปสรรคในการทำกับข้าวเมนูที่เคยทำประจำ ลืมจ่ายค่าน้ำค่าไฟค่าสาธารณูปโภคที่เคยจ่ายทุกเดือน สมาธิแย่ลงและใช้เวลามากขึ้นกับกิจกรรมเดิมที่เคยทำ
  • 3) มีปัญหากับกิจวัตรประจำวัน  

    เช่น การขับรถไปสถานที่เดิม ๆ การซื้อของเข้าบ้านประจำสัปดาห์ หรือกฎกติกาที่เคยรู้กลายเป็นเรื่องที่จำหรือทำได้ยากขึ้น

  • 4) หลงลืมวันเวลาหรือสถานที่  

    ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะหลงลืมวัน เวลา ฤดูกาล จึงไม่เข้าใจว่าทำไมสิ่งนั้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นในเวลาที่ตัวเองคาดคิด บางครั้งก็จะไม่ได้ว่าตัวเองอยู่ที่ไหน ไปอยู่ที่นั่นได้อย่างไร

  • 5) มีปัญหาในการทำความเข้าใจกับภาพที่มองเห็นและมิติสัมพันธ์  

    ในผู้ป่วยบางคนจะพบปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น กะระยะไม่ได้ มีปัญหากับสีและการตัดกันของสี ทำให้ไม่สามารถขับรถได้ 

  • 6) มีปัญหาการสื่อสาร 

    ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมีปัญหาในการพูดหรือการเขียน สังเกตได้จากพูดแล้วหยุดกลางประโยคหรือพูดซ้ำเดิมเพราะนึกไม่ออกว่าจะพูดอะไร และเรียกชื่อสิ่งที่คุ้นเคยผิดพลาดบ่อย

  • 7) ทำของหายหรือไว้ของผิดที่แล้วหาไม่เจอ  

    จำไม่ได้ว่าวางของไว้ที่ไหน หรือลืมของในตำแหน่งที่ไม่น่าลืม ข้อนี้คุณผู้อ่านอ่านแล้วอาจจะคิดว่าฉันก็เป็น แต่ในที่สุดคุณจะหาสิ่งนั้นเจอใช่ไหมคะ แต่ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์เขาจะลืมไปเลยว่าเอาของไปไว้ที่ไหน และอาจเกิดร่วมกับการหลงผิดว่ามีคนขโมยไป

  • 8) ความสามารถในการตัดสินใจหรือตีความแย่ลง  

    ทำให้ตัดสินอะไรผิดพลาดมากขึ้น เช่น ตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องเกี่ยวกับเงินทอง หรือไม่สามารถดูแลสุขอนามัยของตัวเองได้ดังเดิม

  • 9) หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม  

    เมื่อผู้ป่วยรู้สึกว่าการพูดคุยกับคนอื่นเป็นเรื่องยาก พาลทำให้ไม่อยากเจอใคร ไม่อยากคุยกับใครเพราะเสียความมั่นใจนั่นเอง

  • 10) อารมณ์และบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง

    อาการที่เกิดจะมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่มีอาการซึมเศร้า เฉื่อยชา ไม่อยากเข้าสังคม อารมณ์แปรปรวน ขาดความเชื่อใจคนอื่น หงุดหงิดก้าวร้าว นอนหลับผิดปกติ เดินงุ่นง่านไปมา ไม่สามารถยับยั้งใจได้ มีความเชื่อที่หลงผิด เช่น คิดว่าคู่สมรสนอกใจ มีคนขโมยของไป มีคนมาหา

  • ส่วนในเรื่องอาหารการกิน มีหลักฐานจากวิจัยว่าวิตามินที่ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระนั่นคือ วิตามินเอ บี ซี ดี และอีช่วยชะลอการดำเนินของโรคและป้องกันความเสี่ยงในการเกิดอัลไซเมอร์ได้ ดังนั้นการรับประทานผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินเหล่านี้จึงมีประโยชน์ทั้งในแง่การป้องกันและช่วยชะลอโรค ส่วนการรับประทานวิตามินในรูปอาหารเสริมยังไม่มีข้อสรุปและแนวทางการใช้ที่ชัดเจนร่วมกันในระดับนานาชาติ
 

รวมสินค้าแนะนำ