วิตามินผิวสวย

วิตามินเพื่อผิวสวยเด้ง

ลักษณะของผิวพรรณขึ้นอยู่กับสุขภาพโดยรวมของแต่ละบุคคล อาหารที่สมดุลมีส่วนสำคัญในการทำงานของร่างกายและผิวหนัง โดยมีส่วนในการต้านอนุมูลอิสระภายในเซลล์ โดยอนุมูลอิสระมักเกิดขึ้นในกระบวนการเสื่อมสภาพของเซลล์และการเกิดพยาธิสภาพของผิวหนังบางชนิด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิว 10 ชนิดที่ช่วยให้คุณมีสุขภาพผิวดี


ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิว 10 ชนิดที่ช่วยให้คุณมีสุขภาพผิวสวย

  • 1) แคโรทีนอยด์  

    แคโรทีนอยด์เป็นเม็ดสีที่ละลายในไขมัน ซึ่งพบได้ในผลไม้ ผัก และเห็ดราที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยมักมีสีแดง ส้ม และเหลือง แคโรทีนอยด์สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกัน ดวงตา และสุขภาพผิวหนัง อาหารเสริมแคโรทีนอยด์ ได้แก่ เบต้าแคโรทีน ไลโคปีน ลูทีน แอสตาแซนธิน และซีแซนทีน จากการศึกษาพบว่าการได้รับผลิตภัณฑ์แคโรทีนอยด์สามารถลดรอยแดงที่เกิดจากรังสียูวีและลดการเกิดอนุมูลอิสระที่เกิดจากความเครียด และช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของผิวหน้า ความกระจ่างใส และลักษณะโดยรวมของผิวหน้าได้อย่างมีนัยสำคัญ

  • 2) วิตามินบี (B3, B7) วิตามินบี 3 หรือไนอาซินาไมด์ (หรือนิโคตินาไมด์) 

    มีการศึกษาการใช้วิตามินบี 3 รูปแบบ รับประทาน ในการป้องกันมะเร็งผิวหนังบางชนิด อย่างไรก็ตาม มีการใช้วิตามินบี 3 รูปแบบทากันอย่างแพร่หลายในการรักษาสิว ต้านการอักเสบของผิวหนัง และเพื่อเพิ่มเซราไมด์ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของผิวหนัง วิตามินบี 7 หรือไบโอตินมีส่วนสำคัญในการสร้างเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนภายในเซลล์ผิวหนัง ผม และเล็บ ดังนั้น การขาดไบโอตินจะก่อให้เกิดโรคผิวหนัง ผมร่วง และการติดเชื้อที่ผิวหนัง ผลการศึกษาพบว่าการให้วิตามินบีรวมและไบโอตินในการรักษาต่อมไขมันอักเสบที่ผิวหนัง มีประสิทธิภาพในการรักษาภายใน 4-8 วันและหายขาดภายใน 15-30 วัน
  • 3) วิตามินซีและอี  

    วิตามินซีหรือกรดแอสคอร์บิกเป็นวิตามินที่ละลายได้ในน้ำ พบมากในผลไม้ตระกูลส้ม ผักและผลไม้ทั่วไป วิตามินซีทำหน้าที่ในการกำจัดอนุมูลอิสระและมีส่วนสำคัญในการสร้างและการรักษาสภาพของคอลลาเจน วิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน โดยรูปแบบที่ออกฤทธิ์มากที่สุดคือ อัลฟา-โทโคฟีรอล วิตามินอีมีบทบาทในการต้านอนุมูลอิสระและปกป้องเยื่อหุ้มเซลล์จากอนุมูลอิสระที่เกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นในชั้นไขมัน โดยการรับประทานวิตามินสองชนิดนี้ร่วมกันจะช่วยเสริมประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดด ลดปฏิกิริยาจากการถูกแดดเผา และลดผลกระทบจากการถูกทำลายผิวที่เกิดจากรังสียูวี ได้ดีกว่าการรับประทานวิตามินเพียงซีหรืออีเพียงชนิดเดียว

  • 4) วิตามินดี  

    เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน โดยสามารถได้รับวิตามินดีจากการรับประทานอาหารและการสัมผัสกับแสงแดด สารตั้งต้นของวิตามินดีเมื่อทำปฏิกิริยากับแสงยูวีจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ คือ วิตามินดี3 หรือแคลซิทริออล วิตามินดีมีฤทธิ์ต้านการอักเสบซึ่งช่วยรักษาสภาวะสมดุลของผิวหนัง ควรมีการสัมผัสกับแสงแดดอ่อนประมาณ 10-15 นาทีช่วงเช้าก่อนเวลา 10.00 น.เพื่อให้ได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอในแต่ละวัน

  • 5) สังกะสี (Zn)  

    ผิวหนังเป็นเนื้อเยื่อที่มีสังกะสีมากเป็นอันดับ 3 ในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างและการทำงานของผิวหนังและเยื่อเมือก สังกะสีช่วยปกป้องเซลล์ของร่างกายจากการทำลายโดยอนุมูลอิสระ สังกะสียังส่งผลต่อการทำงานของภูมิคุ้มกันและสารสื่ออักเสบต่างๆของผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการป้องกันความเสียหายที่เกิดจากรังสียูวี ส่งผลต่อกระบวนการทำงานของคอลลาเจน และมีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ทำให้เกิดสิวอักเสบ

  • 6) ทองแดง (Cu) 

    พบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ตับ หอยนางรม สาหร่ายสไปรูลิน่า เป็นต้น ทองแดงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง เช่น ซูเปอร์ออกไซด์ ดิสมิวเตส ซึ่งช่วยปกป้องผิวจากอันตรายที่เกิดจากอนุมูลอิสระ และไทโรซิเนส เอ็นไซม์หลักที่จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์เม็ดสีผิว โดยปัจจุบันมีการใช้แร่ธาตุทองแดงในโรคผิวหนังอักเสบและการรักษาบาดแผลมาอย่างต่อเนื่อง

  • 7) ซิลิคอน (Si)  

    พบได้ในเนื้อเยื่อของร่างกายโดยทั่วไป รวมทั้งผิวหนัง ผม และเล็บ ปริมาณของซิลิคอนในเนื้อเยื่อจะลดลงตามอายุ เนื่องจากอวัยวะที่ทำหน้าที่ดูดซึมซิลิคอนคือต่อมไทมัส ซึ่งจะเสื่อมสภาพตามอายุที่มากขึ้น ซิลิคอนมีบทบาทสำคัญในโครงสร้างผิวหนัง ส่งเสริมการผลิตคอลลาเจน เสริมสร้างความแข็งแรงของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และลดความเสี่ยงในการเกิดผมร่วง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซิลิคอนมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพของผิวพรรณ ลดริ้วรอยบนใบหน้าและลดจุดด่างดำที่เกิดจากรังสียูวี

  • 8) กรดไขมันจำเป็น  

    กรดไขมันจำเป็นเป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว แบ่งได้ 2 ประเภท คือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว พบมากใน น้ำมันมะกอก อโวคาโด และถั่วเปลือกแข็ง และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน พบมากในน้ำมันดอกทานตะวัน แซลมอน และซาร์ดีน เนื่องจากกรดไขมันไม่อิ่มตัว เซราไมด์และโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบของโครงสร้างผิวหนัง เมื่อทำงานร่วมกันจะสามารถก่อตัวเป็นปราการปกป้องผิวที่แข็งแรง เพื่อลดการสูญเสียน้ำและปกป้องสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก  นอกจากนี้กรดไขมันจำเป็นยังสามารถเสริมฤทธิ์ในการปกป้องผิว ได้แก่  การต้านการอักเสบ ต่อต้านการแพ้ ลดผลกระทบจากรังสียูวี เสริมสร้างกระบวนการซ่อมแซม และลดการระคายเคืองทางผิวหนัง

  • 9) โพลีฟีนอล  

    เป็นสารประกอบที่พบมากในพืช โดยมีสีตั้งแต่สีแดง สีเหลืองจนถึงสีน้ำเงิน กลุ่มโพลีฟีนอลที่มีการวิจัยอย่างกว้างขวางที่สุด ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ เช่น เควอซิติน แคมป์เฟอรอล คาเทชิน และอีพิกัลโลคาเทชิน โพลีฟีนอล ออกฤทธิ์โดยการขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ที่ทำลายผิวหนัง ได้แก่ คอลลาเจเนสและอีลาสเทส ซึ่งทำลายคอลลาเจนและเส้นใยอีลาสติน และไฮยาลูโรนิเดสซึ่งย่อยสลายกรดไฮยาลูโรนิก นอกจากนี้ ยังบรรเทาการระคายเคืองและลดอาการแดงของผิว เสริมสร้างการสร้างเซลล์ของผิวหนังชั้นนอก เสริมความแข็งแรงของเส้นเลือดฝอย เพิ่มความยืดหยุ่นในผิวหนัง และป้องกันปัจจัยภายนอกที่เป็นอันตรายต่อผิวหนัง รวมทั้งรังสียูวี

  • 10) คอลลาเจน

    คอลลาเจนคิดเป็นร้อยละ 80 ของผิวหนัง โดยทำงานร่วมกับโปรตีนอิลาสตินเพื่อรักษาผิวให้มีความยืดหยุ่นและกระชับ อย่างไรก็ตาม ความสามารถของร่างกายในการสร้างคอลลาเจนจะค่อยๆ ลดลงตามอายุ และถูกเร่งการทำลายด้วยรังสียูวีจากแสงแดด มลภาวะ และการสูบบุหรี่ มีการศึกษาทางคลินิกในการเสริมคอลลาเจนแบบรับประทาน ผลในระยะสั้นและระยะยาว เบื้องต้นพบว่าคอลลาเจนมีแนวโน้มที่ดีในการใช้รักษาบาดแผลและชะลอการเกิดริ้วรอย นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นของผิว เพิ่มความชุ่มชื้น และความหนาแน่นของคอลลาเจนในผิวหนัง อาหารเสริมคอลลาเจนโดยทั่วไปนั้นปลอดภัยและยังไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง

  • การดูแลผิวพรรณควรเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดูแลสุขภาพ โดยอาจเริ่มจากการจำกัดการสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) โดยตรงและทาครีมกันแดดอยู่เสมอ แม้ว่าจะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับการเสริมสร้างผิว แต่สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาไม่รับประทานในปริมาณมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงได้
 

รวมสินค้าแนะนำ