ปัจจุบันอาหารเสริมมีหลายชนิดให้เลือกซื้อหามาบริโภค และบางชนิดก็มีชื่อคล้ายกันจนอาจทำให้เกิดความสับสนได้ โดยเฉพาะ “น้ำมันปลา” กับ “น้ำมันตับปลา” แท้ที่จริงแล้วผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสองชนิดนี้มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ “น้ำมันปลา” และ “น้ำมันตับปลา” เพื่อให้คุณเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับความต้องการของร่างกายของคุณเอง
น้ำมันปลา
น้ำมันปลา หรือ Fish Oil ประกอบด้วยกรดไขมันแบบไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsaturated fatty acid, PUFA) ชนิดโอเมก้า-3 ที่สำคัญต่อการทำงานและการเจริญเติบโตของร่างกายมนุษย์ และมนุษย์จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้
โอเมก้า-3 ที่พบหลัก ๆ ในน้ำมันปลามี 2 ชนิด คือ docosahexaenoic acid (DHA) และ eicosapentaenoic acid (EPA) น้ำมันปลาได้รับความสนใจจากผู้ที่ห่วงใยสุขภาพ นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาถึงส่วนประกอบ ประโยชน์และผลต่อสุขภาพของการรับประทานน้ำมันปลากันมานานกว่า 50 ปี ตั้งแต่มีนักวิจัยผู้บุกเบิกค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคปลาที่อุดมไปด้วยไขมันโอเมก้า-3 เป็นประจำกับสถิติการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำในคนเอสกิโมในกรีนแลนด์ จึงทำให้กระแสความเชื่อว่าการรับประทานน้ำมันปลาซึ่งมีโอเมก้า-3 ปริมาณมาก จะช่วยป้องกันและรักษาโรคหัวใจได้
จริง ๆ แล้ว DHA และ EPA ไม่ได้มีมากเฉพาะในปลาที่มีไขมันเยอะอย่าง ปลาซาดีน แซลมอน เทราท์และปลาแมคคาเรลเท่านั้น แต่ยังพบล็อปสเตอร์ หอย ปู ไข่ไก่ รวมทั้งเมล็ดพืช เช่น เมล็ดเฟล็ก เมล็ดเจีย และถั่ววอลนัท ก็มีโอเมก้า-3 ที่เรียกว่า alpha-linolenic acid (ALA) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็น DHA และ EPA ด้วย ดังนั้นหากคุณต้องการไขมันโอเมก้า-3 จากอาหารจึงไม่จำเป็นต้องมุ่งไปที่การรับประทานปลาเพียงอย่างเดียว แต่เลือกรับประทานอาหารที่ระบุไว้ข้างต้นก็ได้ประโยชน์เช่นกัน
ไขมันโอเมก้า-3 เป็นไขมันดีที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และช่วยเพิ่มความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผลต่อสุขภาพที่เด่นและยืนยันได้มากที่สุดของน้ำมันปลา คือ น้ำมันปลาช่วยลดไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ จากการศึกษาวิจัยในชาวญี่ปุ่นพบว่าเมื่อรับประทาน EPA เสริมวันละ 1.8 กรัม หรือรับประทาน EPA และ DHA ร่วมกันวันละ 2 กรัม สามารถลดไตรกลีเซอไรด์ได้ 11% และถ้าเพิ่มโดสเป็นรับประทาน EPA และ DHA ร่วมกันวันละ 4 กรัม สามารถลดไตรกลีเซอไรด์ได้ถึง 25% แต่ในข้อดีก็แอบมีข้อเสีย เพราะผลวิจัยพบว่าการรับประทานน้ำมันปลาจะทำให้ทั้ง HDL cholesterol ซึ่งเป็นไขมันที่ดี และ LDL cholesterol ที่เป็นไขมันตัวร้ายในเลือดมีค่า “สูงขึ้น” ได้ทั้งคู่ ดังนั้นหากคุณเป็นคนที่มีไขมันในเลือดสูงเป็นโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้ว แนะนำว่าควรรับประทานยาลดไขมันในเลือดที่หมอสั่งจ่ายร่วมไปกับการรับประทานน้ำมันปลา ห้ามทิ้งยาที่หมอให้แล้วหันมารับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียวเป็นอันขาด
นอกจากผลต่อไขมันในเลือด น้ำมันปลายังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดแดงแข็ง ช่วยลดความดันโลหิตได้เล็กน้อย เพิ่มความยืดหยุ่นของหลอดเลือด และอาจมีผลดีต่อโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการอักเสบในร่างกาย เช่น โรคสะเก็ดเงินและโรครูมาตอยด์
ทำความรู้จักกับน้ำมันปลากันไปอย่างละเอียดแล้ว ทีนี้มาทำความรู้จักกับ “น้ำมันตับปลา” บ้างดีกว่า
น้ำมันตับปลา
น้ำมันตับปลา หรือ Cod Liver Oil เป็นน้ำมันชนิดหนึ่งที่ได้จากตับของปลาคอด ในอดีตย้อนกลับไปเมื่อศตวรรษก่อน คนในประเทศสหรัฐอเมริกาและแถบยุโรปนิยมรับประทานน้ำมันตับปลาเพื่อป้องกันการเป็นหวัด ลดอาการปวดจากข้ออักเสบรูมาตอยด์ การปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ และรักษาโรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) จนมาในศตวรรษที่ 20 นี่เองที่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่า สารประกอบที่พบมากในน้ำมันตับปลานอกจากจะมี DHA และ EPA เหมือนกับน้ำมันที่ได้จากส่วนอื่น ๆ ของปลาแล้ว น้ำมันตับปลายังมี “วิตามินเอและวิตามินดี” ในปริมาณมาก ดังนั้นการรับประทานน้ำมันตับปลาจึงให้ประโยชน์กับผู้ที่ขาดวิตามินเอและวิตามินดี และให้ประโยชน์กับร่างกายได้หลากหลายด้าน เนื่องจากวิตามินเอเป็นวิตามินที่สำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้สายตามองเห็นในที่มืดได้ดี มีผลต่อการเจริญของเซลล์ และการทำงานของระบบเจริญพันธุ์ของร่างกาย ส่วนวิตามินดีนั้นนอกจากจะใช้เพื่อป้องกันโรคกระดูกอ่อนที่เกิดจากการขาดวิตามินดีได้แล้ว ยังพบว่าช่วยทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อ และอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งที่พบบ่อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้อีกด้วย
ทั้งนี้เนื่องจากน้ำมันตับปลานั้นได้จากปลาเช่นเดียวกับน้ำมันปลา นอกจากนั้นยังมีส่วนประกอบที่เป็นโอเมก้า-3 เช่นเดียวกัน จึงข้อควรระวังในการรับประทานเหมือนกัน คือ หากได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เลือดออกง่าย จึงห้ามใช้ในผู้รับประทานยาหรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์สลายลิ่มเลือด เพราะว่าจะไปเสริมฤทธิ์กันทำให้โอกาสมีเลือดออกง่ายมากขึ้น และเนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอาหารทะเล จึงควรระวังการใช้ในคนที่เคยแพ้อาหารทะเลมาก่อน และหลังรับประทานน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลาอาจจะรู้สึกมีรสคาวค้างอยู่ในปาก ลมหายใจมีกลิ่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีผื่น หรือกรดไหลย้อนได้
อ่านมาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านลองพิจารณาดูนะคะว่าประโยชน์แบบใดที่คุณต้องการ หากคุณต้องการเพียงแค่ไขมันที่ดีอย่างโอเมก้า-3 ก็เลือกรับประทานน้ำมันปลา แต่ถ้าคิดว่าตัวเองอาจจะขาดวิตามินเอหรือวิตามินดี ปัจจุบันมีการตรวจหาระดับวิตามินในร่างกายตามโรงพยาบาลซึ่งคุณสามารถไปปรึกษาแพทย์เพื่อเจาะเลือดเพื่อให้ทราบค่าที่แน่นอนได้ และการรับประทานน้ำมัน “ตับ” ปลาก็เป็นทางหนึ่งในการเสริมทั้งวิตามินเอ วิตามินดี และโอเมก้า-3 ไปพร้อม ๆ กันค่ะ