ชัวร์หรือมั่วนิ่ม? เราไม่จำเป็นต้องกินวิตามินซี
มั่วมาก!!! แม้ในภาวะปกติ ร่างกายเราจะได้รับวิตามินซีที่พอเพียงจากผักและผลไม้ แต่ก็มีหลายๆ ภาวะที่ทำให้ร่างกายต้องการวิตามินซีมากเป็นพิเศษ เช่น การติดเชื้อ การมีบาดแผล โรคอักเสบเรื้อรัง เช่น ภูมิแพ้ หรือโรคข้ออักเสบ ภาวะอ่อนเพลียซึมเศร้า โรคมะเร็ง ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่เป็นประจำ จากการศึกษาพบว่า ในภาวะดังกล่าวมีการสร้างสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงต้องการวิตามินซีไปต่อต้านสารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ แสงแดดและฝุ่น PM 2.5 ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ร่างกายต้องการสารต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?
-
แค่ส้ม 1 ลูก วิตามินซีก็เพียบเกินพอ
ชัวร์ในภาวะปกติ แต่หากคุณกินวิตามินซีเพื่อการชะลอวัยหรือเสริมภูมิต้านทาน คุณจะต้องกินส้ม 15-30 ลูกต่อวันเลยทีเดียว มนุษย์เราโชคร้าย ไม่มีเอนไซม์ L-gulonolactone oxidase เลยสังเคราะห์วิตามินซีด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องกินเสริมเท่านั้น โดยปกติ แนะนำให้คนไทยกินวิตามินซีอย่างน้อย 60 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเพิ่มเป็น 70 มิลลิกรัมต่อวันในช่วงตั้งครรภ์ และสูงถึง 120 มิลลิกรัมในช่วงให้นมบุตร ซึ่งส้มขนาดกลาง 1 ลูกก็มีวิตามินซีมากถึง 70 มิลลิกรัมแล้ว จึงไม่แปลกที่ภาวะขาดวิตามินซีรุนแรงในคนปกติไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ
-
กินวิตามินซียิ่งเยอะยิ่งดี มากเกินก็ปัสสาวะออก ไม่มีอันตราย
มั่วนิ่มค่ะ ค่าเพดานของวิตามินซีที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียของร่างกายอยู่ที่ 2 กรัม (2000 มิลลิกรัม) ต่อวัน ถ้าคุณกินเกินนั้น อาจจะเกิดปัญหาท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน และมักมีท้องเสีย หากกินเกิน 3 กรัม ร่างกายคุณไม่เก็บสะสมวิตามินซีนะคะ ต้องกินใหม่ทุกวัน ส่วนเกินที่ร่างกายไม่ต้องการจะถูกขับออกทางอุจจาระและปัสสาวะค่ะ ในกลุ่มคนโรคเลือดธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภาวะเหล็กเกิน ไม่แนะนำให้กินวิตามินซีเสริมค่ะ อีกอย่างที่หลายๆ คนไม่รู้ คือ วิตามินซีมีจุดอิ่มตัวในการดูดซึม แปลว่า กินขนาดน้อยๆ บ่อยๆ จะดีกว่าการกินขนาดสูง 1 ครั้งค่ะ หรือถ้าขี้เกียจ อยากกินวิตามินซีขนาดสูงวันละ 1 ครั้ง ให้เลือกวิตามินซีที่ผลิตมาในรูปแบบพิเศษ slow release, sustained release, หรือ Liposomal ซึ่งวิตามินซีจะค่อยๆ ถูกปล่อยออกจากเม็ดยา ทำให้การดูดซึมวิตามินซีดีขึ้น และยังลดเรื่องการระคายเคืองของกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
-
วิตามินซีมีเฉพาะในผลไม้รสเปรี้ยว
มั่วนิ่มค่ะ ผลไม้เช่น ฝรั่ง มะละกอ หรือผักใบเขียว เช่น คะน้า บลอคโคลี พริกหวาน ถึงจะไม่มีรสเปรี้ยว แต่ก็มีปริมาณวิตามินซีต่อร้อยกรัมสูงมากกว่าส้ม 2-4 เท่าเลยทีเดียว
-
วิตามินซีทุกตัวเหมือนกัน
จริงค่ะ วิตามินซีที่กินเสริมกันมี 2 แบบคือ วิตามินซีสังเคราะห์ และ วิตามินซีสกัดจากธรรมชาติ เช่น Acerola cherry หรือ Rosehip ซึ่งท้ายที่สุดพออยู่ในร่างกายก็เป็นวิตามินซีที่เหมือนกันและออกฤทธิ์แบบเดียวกันค่ะ
-
กินวิตามินซีทุกวันทำให้อ้วน
มั่วนิ่มค่ะ วิตามินซีมีความสำคัญในการเปลี่ยนไขมันเป็นพลังงาน ไม่เคยมีรายงานว่าวิตามินซีทำให้อ้วน และหากคุณกำลังพยายามลดความอ้วน นอกเหนือจากการออกกำลังกายแล้ว ก็อย่าลืม เลือกกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงด้วยนะคะ
-
กินวิตามินซี ช่วยเรื่องไข้หวัดได้
ชัวร์ค่ะ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่เป็นหวัดหากกินวิตามินซีนะคะ จากงานวิจัยพบว่าการกินวิตามินซีช่วยลดเรื่องความรุนแรงของโรคหวัด และยิ่งในกลุ่มนักกีฬา หรือผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมหนาวเย็นจะช่วยลดโอกาสติดหวัดได้ แต่จำเป็นต้องใช้วิตามินซีขนาดสูงอย่างน้อย 3 กรัมต่อวัน ดังนั้นหากใครป่วยบ่อย อาจจะเลือกกินวิตามินซีเสริมก่อนช่วงฤดูฝนไปจนถึงสิ้นฤดูหนาวได้ค่ะ
-
กินวิตามินซีเสริมเสี่ยงนิ่วในไต
มั่วนิ่มค่ะ การกินวิตามินซีขนาดสูงเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดนิ่วในไตในคนปกติ โอกาสเกิดนิ่วพบได้ในคนที่เป็นโรคที่มีออกซาเลตในปัสสาวะสูง ซึ่งก็สามารถป้องกันได้โดยการดื่มน้ำประมาณ 2 ลิตรต่อวันร่วมกับการกินวิตามินบี 6 40 มิลลิกรัมต่อวันและเสริมแมกนีเซียม 300 มิลลิกรัมต่อวันค่ะ
-
วิตามินซีต้องฉีด ถึงจะเห็นผล
มั่วนิ่มค่ะ ถ้าคุณไม่ได้มีปัญหาเรื่องการดูดซึมอาหารหรือเป็นผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวิตามินซีค่ะ ส่วนจะเลือกรูปแบบเม็ด เม็ดฟู่ เจลลี่ แบบผง หรือแบบน้ำ อันนี้แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลเลยค่ะ
สิ่งที่ต้องสังเกตก่อนซื้อวิตามินซีคือ ปริมาณวิตามินซีที่มีต่อหน่วยบริโภค ซึ่งมีได้ตั้งแต่ 25 – 1000 มิลลิกรัม ขนาดของวิตามินซีที่เราเลือกกินขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ กิน 250-1000 มิลลิกรัมต่อวันในกรณีที่ต้องการช่วยให้แผลสวยหายเร็ว หากต้องการชะลอวัยให้กินขนาด 1 กรัมขึ้นไปต่อวัน หรือเพื่อการเสริมสร้างภูมิต้านทานต้องกินขนาดสูง 2-4 กรัมต่อวันเลยทีเดียว (แต่อาจมีผลข้างเคียงดังกล่าวข้างต้น หรืออาจกินและฉีดผสมกัน) สุดท้าย อย่าลืมสังเกตเรื่องวิธีการเก็บรักษาด้วยนะคะ วิตามินซีจะอ่อนฤทธิ์ลงเมื่อโดนแสงแดด จึงควรเลือกขวดบรรจุภัณฑ์ที่กันแสงแดดได้ด้วยค่ะ