สิวยุคโควิด-ฤทธิ์ของหน้ากาก

วิธีป้องกันสิวที่เกิดจากหน้ากากใส่กันโควิด

 
เวลาจะซื้อรองเท้าใหม่สักคู่ คุณคงต้องลองจนแน่ใจว่าคุณจะสวมใส่มันได้พอดี ใส่สบาย ไม่เจ็บ ไม่กัดจนเท้าเป็นแผลพุพอง และรองเท้าคู่นั้นต้องทำหน้าที่ปกป้องเท้าได้อย่างดี แล้วซื้อหน้ากากล่ะคะ คุณเคยลองไหม?  
 
ในยุคที่ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่อต้องหายใจร่วมกับคนอื่นนอกบ้าน ต้องยอมรับว่าการใส่หน้ากากสร้างความลำบากความรำคาญใจได้หลายเรื่อง เพราะแต่ละเดือนนอกจากจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นค่าหน้ากากแล้ว การใส่หน้ากากยังทำให้หายใจลำบากกว่าปกติ บางแบบใส่แล้วสายดึงรั้งจนทำให้เจ็บหู ปวดหัว หรือบางแบบก็มีเนื้อสัมผัสที่ทำให้เกิดการระคายเคืองจนเจ็บผิวหน้าและสิวเห่อขึ้นมาแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  
 

ทำความรู้จัก มาส์คเน่ (maskne)

“มาส์คเน่ (maskne)”  เป็นศัพท์ใหม่ที่เพิ่งถูกบัญญัติขึ้นในปี 2020 หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในปลายปี 2019 เมื่อผู้คนทั่วโลกต้องหันมาใส่หน้ากากเพื่อป้องกันตัวเองจากโรคระบาด คำว่า “มาส์คเน่” แปลเป็นไทยได้ว่าสิวจากหน้ากากหรือสิวภายใต้หน้ากากซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของสิวที่เกิดจากการเสียดสี ความร้อน การกดทับ (acne mechanica) อาจจะเกิดจากการกดทับของส่วนใดส่วนหนึ่งของหน้ากาก เช่น สาย หรือขอบแข็งของหน้ากากแบบ N-95 รวมถึงสิวที่มักเกิดในบริเวณภายใต้หน้ากากอนามัยเป็นวงรอบปาก จมูก และคาง ที่เรียกว่า O-zone ซึ่งเป็นคนละตำแหน่งกับสิวที่เกิดจากความมันบนใบหน้าที่มักเกิดบริเวณ T-zone 
 
ถ้าพิจารณาลึกไปถึงต้นเหตุของสิวจากหน้ากากจะพบว่าไม่ได้มีเพียงแค่การเสียดสี หรือการกดทับเท่านั้น แต่เป็นเพราะสภาวะแวดล้อมของผิวใต้หน้ากากมีทั้งความร้อน ความชื้นที่อบอวลอับชื้นทำให้ผิวมีค่าความกรด-ด่างที่ผิดปกติ เป็นผลให้เกิดการเสียสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ที่ผิวและก่อให้เกิดการระคายเคือง อักเสบ หรือเป็นสิวขึ้นใต้หน้ากาก โดยเฉพาะในคนที่มีโรคผิวหนังอื่น ๆ อยู่เดิม เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) โรซาเชีย (rosacea) เซบเดิร์ม (seborrheic dermatitis) วัยรุ่นที่เป็นสิวบ่อย ๆ อยู่แล้วและคนที่เป็นสิวง่าย ระยะเวลาในการสวมหน้ากากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิว ยิ่งสวมหน้ากากเป็นเวลานาน ก็ยิ่งมีความเสี่ยงในการเกิดสิวมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศที่มีอากาศร้อน ทำให้มีเหงื่อออกมากภายใต้หน้ากากแบบบ้านเรา
 

วิธีลดการเสียดสีระหว่างหน้ากากกับผิวหน้า

จากบทความทางการแพทย์เรื่องการวินิจฉัยและดูแลสิวจากหน้ากากในยุคโควิด-19 โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังในประเทศสิงคโปร์ สรุปได้ว่า เพื่อลดปัญหาการเสียดสีระหว่างหน้ากากกับผิวหน้า ลดการเกิดการระคายเคือง และแก้ปัญหาสิว ผู้ที่มีปัญหาสิวจากหน้ากากควรเลือกหน้ากากที่ทำจากผ้าเรียบลื่นไม่มีรอยพับเป็นชั้น ทรงที่เหมาะสมคือทรงที่เป็นผ้าสองชิ้นซ้าย-ขวาประกบกันและมีรอยต่อตรงกลางตามแนวจมูกซึ่งทำให้หายใจได้สะดวก ไม่มีโลหะบริเวณกลางจมูก โดยเฉพาะโลหะที่ทำจากนิกเกิลซึ่งก่อให้เกิดการแพ้ได้ ควรมีที่ปรับความยาวของสายให้เหมาะกับขนาดของใบหน้า ทำจากผ้าที่กันแดดได้ มีค่า UPF 40+ ขึ้นไป เลือกผ้าสีอ่อนไม่ดูดความร้อนที่สามารถกันน้ำได้ ขณะเดียวกันก็ต้องระบายอากาศได้ดี ผ้าทอแน่น ละเอียด ยิ่งถ้าเป็นหน้ากากผ้าประเภทผสมสารซิลเวอร์ ซิงค์ออกไซด์หรือคอปเปอร์ออกไซด์ในเนื้อผ้าเพื่อทำให้หน้าที่ฆ่าเชื้อได้ก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับผิว  
 
ส่วนใครที่อ่านแล้วเกิดความกังวลและสงสัยว่าหน้ากากผ้าจะป้องกันเชื้อได้หรือ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหน้ากากผ้าที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ต้องทำจากผ้า 3 ชั้น โดยชั้นในเป็นผ้าที่มีคุณสมบัติในการดูดซับ เช่น ผ้าคอตตอน ชั้นกลางทำจากส่วนประกอบที่ไม่ใช่การถักทอ ดูดซับไม่ได้ เช่น โพลีโพรพีลีน และชั้นนอกทำจากวัสดุที่ไม่มีคุณสมบัติในการดูดซับ เช่น โพลีเอสเทอร์ หรือผ้าผสมโพลีเอสเทอร์ 
 

 

การดูแลผิวเพื่อป้อกันสิวจากการใส่หน้ากาก

นอกจากการเลือกหน้ากากผ้าแล้วการรักษาสิวที่เกิดขึ้นและและดูแลผิวอย่างต่อเนื่องก็มีสำคัญไม่แพ้กัน เคล็ดลับลดการเกิดสิวจากหน้ากาก ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสูตรอ่อนโยนที่ผสมสารต้านแบคทีเรีย ใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ช่วยเสริมสร้างปราการผิวโดยไม่รบกวนจุลินทรีย์ที่ผิว การใช้ยารักษาสิวที่มีส่วนผสมของเบนโซอิลเปอร์ออกไซด์ กรดซาลิไซลิค ซัลเฟอร์ เอเอชเอ หรือพวกเรตินอยด์ ทาอาจทำให้เกิดการระคายอักเสบได้มากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีการใส่หน้ากากปิดทับ จึงควรเลือกใช้สารสกัดที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ควบคุมความมัน และฆ่าเชื้อแทน งดใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ใช้สารกันแดดเคมี (chemical sunscreen) ซึ่งเป็นสารกลุ่มน้ำมันที่ก่อให้เกิดการแพ้และอุดตันได้โดยเฉพาะเมื่อใส่หน้ากาก หับไปใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่ประกอบด้วยสารกันแดดแบบกายภาพ (physical sunscreen) ได้แก่ ไทเทเนียมไดออกไซด์ (titanium dioxide) และ zinc oxide (ซิงค์ออกไซด์) หรือเว้นการทากันแดดบริเวณใต้หน้ากาก เปลี่ยนไปใช้วิธีกันแดดด้วยการเลือกหน้ากากที่ทำจากผ้าที่ป้องกันแสงแดดได้แทน  
 
ยุคนี้การหาให้เจอว่าหน้ากากที่เหมาะกับเราจะเป็นแบบไหน ก็คงไม่ต่างจากการพยายามหารองเท้ายี่ห้อและรุ่นที่สวมสบาย ใส่ได้ทั้งวันมาเป็นเพื่อนคู่กายยามต้องออกนอกบ้าน สุดท้ายใครจะเลือกใส่หน้ากากแบบไหน อย่าลืมว่าหน้ากากต้องทำหน้าที่ของมันในการป้องกันเชื้อไวรัสได้ ต้องกระชับเข้ากับรูปหน้า ปิดจมูก คาง แก้มได้แนบสนิทโดยไม่มีช่องว่างนะคะ 

รวมสินค้าแนะนำ